อียูเลือกนายกฯ เบลเยียมเป็นประธานคนแรกของกลุ่ม ท่ามกลางเสียงตอบรับและปฏิเสธ

ข่าวต่างประเทศ Friday November 20, 2009 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มผู้นำจากสหภาพยุโรป (อียู) มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์เลือก แฮร์มัน ฟาน รอมปุย นายกรัฐมนตรีเบลเยียม ให้ดำรงตำแหน่งประธานของกลุ่ม ส่งผลให้เขาเป็นประธานคนแรกที่ทำหน้าที่แบบเต็มเวลา ไม่ใช่แบบผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเหมือนที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ในการประชุมนัดพิเศษเมื่อวานนี้ ผู้นำจาก 27 ประเทศสมาชิกยังมีมติแต่งตั้งบารอนเนส แคเธอรีน แอชตัน ตัวแทนจากอังกฤษ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าด้านนโยบายต่างประเทศของอียู แทนที่นายฮาเวียร์ โซลานา โดยบารอนเนสแอชตันเป็นตัวแทนการค้าของอียูมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว

การตัดสินใจดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสหรัฐ โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวว่า การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งครั้งนี้จะช่วยให้อียูมีความแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะทำให้สหรัฐมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งขึ้นในการร่วมมือกันพัฒนาความมั่นคงและสร้างความรุ่งเรืองให้กับทั่วโลก

ด้านฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ แสดงความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับนายฟาน รอมปุย และบารอนเนส แอชตัน ทั้งในเรื่องการแก้ปัญหานิวเคลียร์ การสร้างความมั่นคงในอัฟกานิสถาน และการสร้างความสงบในตะวันออกกลาง

โฮเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เห็นด้วยกับการแต่งตั้งดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าไม่มีผู้ใดที่เหมาะสมกับตำแหน่งเท่านี้แล้ว

ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังเกล่า แมร์เคล ของเยอรมนี กล่าวว่า อียูได้ผู้นำคนใหม่ที่มีความสามารถทางการเมืองและจะนำความสมานฉันท์มาสู่อียู

ด้านประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี ของฝรั่งเศส กล่าวว่า สมาชิกอียูฉลาดมากที่ตัดสินใจเลือกผู้นำจากประเทศที่มีความสำคัญแต่ไม่ได้สำคัญที่สุด ทำให้ไม่มีใครรู้สึกว่าถูกกีดกัน

ท่ามกลางเสียงสนับสนุน ปรากฏว่ามีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งครั้งนี้ไม่น้อย เนื่องจากมองว่าทั้งฟาน รอมปุย และ บารอนเนส แอชตัน มีประสบการณ์ด้านนโยบายต่างประเทศไม่มากเท่าที่ควร และถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับผู้ท้าชิงคนอื่นๆที่ได้มีการคาดการณ์กันไว้แต่เดิม อาทิ อดีตนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ของอังกฤษ

ขณะที่โอเนอร์ ออยเมน สมาชิกรัฐสภาตุรกี กล่าวว่า การที่นายฟาน รอมปุย ได้ดำรงตำแหน่งประธานอียู อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและอียู รวมถึงโอกาสที่ตุรกีจะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู เนื่องจากเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วนายฟาน รอมปุย เคยต่อต้านมิให้ตุรกีเข้าเป็นสมาชิกอียูด้วยเหตุผลด้านศาสนาและวัฒนธรรม

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ของอังกฤษ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าบารอนเรสแอชตันไม่มีอิทธิพลมากพอ และกล่าวว่าการแต่งตั้งบารอนเนสถือเป็นเรื่องดีเพราะถือว่าเธอเป็นตัวแทนของอังกฤษ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ