ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในพื้นที่ทั่วทั้งกรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 28 พ.ย.-14 ธ.ค.52 เพื่อรับมือการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ประกาศนัดชุมนุมใหญ่ยืดเยื้อขับไล่รัฐบาลในช่วง 28 พ.ย.-2 ธ.ค.นี้ และมีแผนจะนำกลุ่มผู้ชุมนุมดาวกระจายไปยังถนนสายสำคัญๆ ทั่วกรุงเทพฯ ในวันที่ 30 พ.ย.
ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ขยายพื้นที่บังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมทั้ง กทม.จากก่อนหน้าที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์วานนี้ว่าจะครอบคลุมเฉพาะพื้นที่เขตดุสิต แขวงโสมนัสและแขวงบางขุนพรหม
"ครม.มองว่ากลุ่มผู้ชุมนุมอาจจะดาวกระจายไปตามจุดต่างๆ จึงมีการประกาศป้องกันเอาไว้ รวมถึงเป็นการให้อำนาจทางเจ้าหน้าที่ที่จะสามารถดูแลรักษาความปลอดภัยพื้นที่ต่าง ๆ อย่างครอบคลุม อย่าให้เหมือนกับการชุมนุมในช่วงเดือนเมษายนที่กลุ่มผู้ชุมนุมปิดอนุสาวรีย์ชัยฯ แต่ทางการทำอะไรไม่ได้"นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปรวมประชุมหอการค้าทั่วประเทศในวันที่ 29 พ.ย.นั้น นายกรัฐมนตรี เห็นว่ายังไม่เหมาะสม จึงขอให้ชะลอเรื่องไว้เพื่อรอดูสถานการณ์ช่วงใกล้ ๆ ก่อน
นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้มีการหารืออย่างกว้างขวาง กรณีที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปจ.เชียงใหม่ เพราะมีความเป็นห่วงความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอแนะ 3 แนวทาง คือ อาจจะให้มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่จัดประชุม , ให้ผู้อื่นเดินทางไปแทน หรือ อาจใช้วิธีการอื่นเข้าร่วมประชุม เช่น ระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์
แต่หากนายกรัฐมนตรีต้องการเดินทางเข้าประชุมด้วยตนเอง ก็อาจต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานด้านการข่าวหาข้อมูลในทุกด้าน เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประชุมหอการค้าหรือไม่
อย่างไรก็ตาม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ชี้แจงว่า หากนายกรัฐมนตรีต้องการเดินทางเข้าร่วมประชุมหอการค้าที่จ.เชียงใหม่จริง ทางเจ้าหน้าที่พร้อมดูแลความปลอดภัยนายกรัฐมนตรีและคณะอย่างเต็มที่
"มีการตั้งข้อสังเกตจาก รัฐมนตรีหลายคนว่าท่านนายกฯ สมควรจะต้องไปหรือไม่...กำลังรอทางฝ่ายความมั่นคงเคาะว่านายกฯสมควรไปหรือไม่ เพราะถ้าไปแล้วเป็นชนวนเหตุของความรุนแรง รัฐบาลก็ไม่อยากให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้น"นายวัชระ กล่าว