ผู้เชี่ยวชาญหวังข้อตกลงโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนผ่านฉลุย หลังจีน-สหรัฐพร้อมใจลดก๊าซเรือนกระจก

ข่าวต่างประเทศ Friday November 27, 2009 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ต้นเดือนหน้าดูเหมือนว่าจะมีข่าวดีเข้ามาบ้างแล้ว หลังรัฐบาลจีนและสหรัฐพร้อมใจประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจนในปี 2563

วานนี้ จีนประกาศจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลงราว 40-45% จากระดับในปี 2548 ขณะที่สหรัฐจะลดระดับการปล่อยก๊าซดังกล่าวลง 17% ส่วนกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรืออียู มีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% ในปี 2533-2563

โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเอ็นมองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นนิมิตหมายที่ดีซึ่งจะช่วยปูทางให้ 2 ประเทศมหาอำนาจที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลำดับต้นๆของโลกสามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อลดภาวะโลกร้อนได้ ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปก็ขานรับความคืบหน้าดังกล่าวพร้อมทั้งขอให้ทั้งสองประเทศดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางรายตั้งข้อสังเกตว่า เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของจีนดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก เพราะเศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จึงน่าจะยังสูงขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนขยายตัวขึ้นกว่า 4 เท่าแตะระดับ 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะขยายตัวได้อีก 8.5% ในปีนี้

ทั้งนี้ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกนซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ มีเป้าหมายเพื่อร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่มาทดแทนพิธีสารเกียวโตปี 2540 ที่จะครบกำหนดหมดอายุในปี 2555 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่าของจีน และประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐต่างแสดงเจตนารมย์ที่จะร่วมผลักดันให้ทุกฝ่ายบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้ร่วมกันอย่างราบรื่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ