"วีระชัย"ไม่สนกระแสกดดันพ้น ครม.แต่พร้อมยอมรับการตัดสินใจของนายกฯ

ข่าวการเมือง Wednesday December 9, 2009 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระชัย วีระเมธีกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่รู้สึกอึดอัดกับกระแสข่าวกดดันให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดยยืนยันว่าจะทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ต่อไป ส่วนการพิจารณาปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ขอให้เป็นหน้าที่ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และพร้อมยอมรับต่อการตัดสินใจที่จะเกิดขึ้น

"ผมทำงานเต็มที่ ถึงเวลาก็ให้นายกฯ ตัดสินใจ จะตัดสินใจอย่างไร ผมก็ยอมรับ" นายวีระชัย กล่าว

นายวีระชัย ยอมรับว่ากระแสข่าวที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งไม่ได้ให้ความสนใจมากนักและไม่ได้คิดมาก ตราบใดที่ยังได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันจะเดินหน้าทำงานต่อไป ส่วนความเห็นและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ก็พร้อมจะรับฟังและนำมาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

"งานที่ผมรับผิดชอบ ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ไม่ได้สัมผัสกับประชาชน ทำให้ไม่ค่อยเป็นข่าว แต่คิดว่าที่ผ่านมาก็ได้ปรับตัวตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้ว"นายวีระชัย กล่าว และระบุว่ามีความพร้อมในการทำงาน เพราะเคยทำงานด้านการเมืองมานาน และเคยได้รับตำแหน่งทางการเมืองมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งพอใจกับผลงานที่ผ่านมา แต่หากจะมีการปรับครม.จริงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาต่อการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด

"ผมคิดว่าคนระดับนายกฯ ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการตัดสินใจ เมื่อสถานการณ์พร้อม แต่เรื่องนี้คนที่เป็นรัฐมนตรี ไม่ควรจะออกมาพูด" นายวีระชัย ตอบคำถามที่ว่านายกรัฐมนตรีไม่กล้าตัดสินใจจะปรับออกจากตำแหน่งเนื่องจากเป็นนายทุนพรรค

รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เพื่อหาทางเจรจาความร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราให้สอดคล้องกับราคาน้ำมัน โดยแนวทางความร่วมมือดังกล่าวจะคล้ายกับความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ผลิตข้าว

"จะคุยกับประเทศผู้ผลิตโดยเริ่มจากอินโดนีเซียและมาเลเซียก่อน จากนั้นจะคุยกับเวียดนาม ซึ่งเราไม่ได้ต้องการผูกขาดเรื่องราคา แต่อยากให้มีเสถียรภาพ ไม่ถูกกดราคาเหมือนในอดีต"นายวีระชัย กล่าว

นายวีระชัย ยังกล่าวภายหลังการเข้าพบของผู้บริหารธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี)ว่า ผู้บริหารเอดีบีแสดงความกังวลในฐานะที่เป็นฝ่ายเลขานุการของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(GMS)ถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลไทยได้ยืนยันว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาความร่วมมือระดับพหุภาคีในกลุ่ม GMS อย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ