(เพิ่มเติม) ศาลฯนัดไต่สวนพยานเพิ่มคดียึดทรัพย์"ทักษิณ"ต้นปี 53 พร้อมขอเอกสาร 7 หน่วยงาน

ข่าวการเมือง Tuesday December 22, 2009 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งนัดไต่สวนพยานในคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพิ่มเติมอีก 2 นัด ในวันที่ 12 และ 14 ม.ค.53 พร้อมเรียกพยานเอกสารและบุคคลจาก 7 หน่วยงาน

"เนื่องจากองก์คณะได้ประชุมกันแล้ว เห็นว่าควรมีการไต่สวนเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง โดยนัดไต่สวนเพิ่มในวันที่ 12 และ 14 ม.ค.53" ผู้พิพากษา กล่าว

สำหรับวันนี้ องค์คณะผู้พิพากษาได้มีคำสั่งให้เรียกพยานเอกสารและพยานบุคคลจาก 7 หน่วยงานเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1.กรมสอบสวนคดีพิเศษ เช่น สำเนาการสอบสวนกรณีบริษัทวินมาร์ค, 2.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สป.) เรื่องความเห็นและผลการศึกษาเรื่องการแปรสัญญาสัมปทาน, 3.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เรื่องความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น SHIN, THCOM, IFCT, TMB, JAS, TT&T และ ADVANC

4.ข้อมูลจากบมจ.ไทยคม(THCOM) เกี่ยวกับการเพิ่มทุน และรายงานการประชุมในการออกวอแรนท์, 5.คณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดการและบริหารความถี่ 6.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) เรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคม และมติครม.ที่เกี่ยวข้อง และ 7.สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) เรื่องรายงานผลการศึกษาสัญญาร่วมการงานระหว่างภาครัฐกับเอกชน

ทั้งนี้ ศาลได้ขอให้เร่งดำเนินการในเรื่องการจัดส่งข้อมูลเอกสารโดยเร็ว โดยให้คู่ความมาตรวจเอกสารหลักฐานทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 4-11 ม.ค.53

อย่างไรก็ดี วันนี้ ศาลฎีกาฯ ได้เบิกความพยานผู้ร้อง 2 ปาก คือนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรมว.ต่างประเทศ และนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)

โดยนายสุรเกียรติ์ ชี้แจงต่อศาลว่า การที่รัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ อนุมัติปล่อยเงินกู้ให้กับทางการพม่าเป็นเพียงแค่การอนุมัติเฉพาะกรอบวงเงิน ไม่ได้พิจารณาลงในรายละเอียด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เช่นกัน แต่ในส่วนของประเทศลาวและกัมพูชาจะปล่อยกู้ในลักษณะโปรเจ็กท์ ไฟแนนซิ่ง แต่ของพม่าจะปล่อยกู้ในลักษณะเครดิตไลน์

พร้อมกันนี้ ยังยืนยันว่า ในการเดินทางไปเจรจากับแต่ละประเทศไม่เคยไปเจรจาในลักษณะที่เป็นการเอื้อประโยชน์ส่วนตัว และยอมรับว่าการปล่อยเงินกู้ดังกล่าวส่งผลดีต่อนโยบายต่างประเทศระหว่างไทยกับพม่า เช่น ความร่วมมือด้านยาเสพติด, แรงงานต่างด้าว และแหล่งพลังงานธรรมชาติ ซึ่งโครงการพิจารณาปล่อยกู้ดังกล่าว เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย

อีกทั้งรัฐบาลในอดีต เช่น รัฐบาลสมัยของนายบรรหาร ศิลปอาชา ก็เคยปล่อยเงินกู้ให้แก่พม่าในโครงการก่อสร้างสนามบินมัณฑะเลย์ แต่การพิจารณาปล่อยเงินกู้ดังกล่าวได้คำนึงถึงปัญหาที่อาจถูกมองว่ามีการเอื้อประโยชน์แก่รัฐบาล อีกทั้งในช่วงดังกล่าวเคยเกิดปัญหาที่สหรัฐฯ ขยายเวลาการคว่ำบาตรพม่า จึงทำให้รัฐบาลสมัยนั้นจะต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ ด้วย

ด้านนายกล้านรงค์ ได้ชี้แจงต่อศาลโดยยืนยันผลการสอบสวนในเรื่องการแปรสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ทำให้หน่วยงานของรัฐ คือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย(หรือ บมจ.ทีโอที ในปัจจุบัน) ที่เป็นเจ้าของสัมปทานของ ADVANC เสียผลประโยชน์ และพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีเหตุอันควร

ขณะที่ทนายความของผู้ถูกกล่าวหา พยายามชี้ให้เห็นว่านายกล้านรงค์มีอคติในการทำคดีนี้ เนื่องจากมีหลักฐานในการเข้าไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มเสื้อเหลือง ซึ่งนายกล้านรงค์ ชี้แจงว่า เป็นการเปิดรับฟังข้อมูลซึ่งมีทั้งด้านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะหลังจากที่รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ที่ออกอากาศทางช่อง 9 ถูกถอดจากผังรายการ ตนจึงตามไปฟังที่เวทีปราศรัยที่สวนลุมพินี แต่ยืนยันว่าไม่เคยขึ้นไปร่วมบนเวทีพันธมิตรฯ แต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่นายกล้านรงค์ร่วมเดินขบวนกับกลุ่มพันธมิตรฯ จากสวนลุมพินีมาที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น นายกล้านรงค์ ชี้แจงว่า เป็นการเดินตามกับกลุ่มผู้ชุมนุมมาโดยที่ไม่ได้คิดอะไร ซึ่งไม่ได้มีความผิดทางกฎหมาย อีกทั้งการเข้าไปร่วมฟังรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่สวนลุมพินี ก็ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายเช่นกัน มีสิทธิเสรีภาพที่จะรับฟังได้ และที่สำคัญก็ไม่มีการรู้จักกันเป็นส่วนตัวกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ