สื่อมวลชนประจำรัฐสภา ตั้งฉายาสภาผู้แทนราษฎร "ถ่อย-เถื่อน-ถีบ" เนื่องจากตลอด 1 ปี ภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนราษฎรตกต่ำ เพราะเต็มไปด้วยความมแตกแยกอย่างหนักระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลจนเกือบมีการใช้ความรุนแรง ทั้งการเปิดศึกหวิดวางมวยกลางสภากันหลายครั้ง หรือมีการโต้เถียง ท้าทายการนับองค์ประชุมกันดุเดือด ด่ากันด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมและบางครั้งถึงขั้นหยาบคาย
ตั้งฉายาวุฒิสภา "ตะแกรงก้นรั่ว" เนื่องจากวุฒิสภาได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสภาสูงที่คอยตรวจสอบและกลั่นกรองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนเข้ามาบริหารประเทศก็ตาม แต่หลังจากเกิดการสลับขั้วทางการเมือง ภาพการตรวจสอบของวุฒิสภากลับไม่เข้มข้นเหมือนรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา ขณะเดียวกันยังมีการวิ่งเต้นล็อบบี้ให้วุฒิสภาผ่านกฎหมายสำคัญของรัฐบาล ทำให้บทบาทการตรวจสอบเหมือนกับตะแกรงในการแยกสิ่งดีไม่ดีออกจากกันไม่เป็นผลสำเร็จ จึงไม่ต่างจากการเป็นตะแกรงก้นรั่ว
ตั้งฉายานายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร "ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์" เนื่องจากชั้นเชิงที่คร่ำหวอดในสภามานาน ทำให้นายชัย ใช้บทร้อยเล่ห์ทั้งการประนีประนอม ใช้ทั้งไม้แข็งและไม้นวมหลอกล่อสมาชิกรุ่นลูกไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลจนหัวหมุน หลงประเด็น โดยเฉพาะการปล่อยมุขขำขันออกมากลบประเด็นจนช่วยผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียดระหว่างการประชุม และประคองไม่ให้การประชุมล่มได้หลายครั้ง
ตั้งฉายานายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา "ประธานหลักเลื่อน" จากที่เคยเป็นถึงอดีตประธานศาลอุทธรณ์ ทุกฝ่ายจึงต่างคาดหวังว่าการทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาของจะสามารถเป็นเสาหลักให้กับสภาสูงได้ แต่บทบาทของประธานวุฒิสภาหลายครั้งได้สร้างความผิดหวังกับสังคม ไม่กล้าตัดสินใจใช้อำนาจในฐานะประมุขของสภาสูงในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และบ่อยครั้งมักจะโอนเอนไปตามแรงกดดันของสังคมหรือเกมการเมือง ทำให้เกิดภาวะเลื่อนลอย
ส่วน "ดาวเด่นประจำสภา" โหวตให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯ ได้อย่างโดดเด่น ไม่มุ่งเน้นอภิปรายรัฐบาลด้วยการใช้วาทศิลป์เป็นสำคัญ แต่สามารถยกข้อเท็จจริงและประเด็นทางกฎหมายมาหักล้างได้ในหลายประเด็น ส่วน "ดาวดับประจำสภา" โหวตให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ที่ช่วงหลังกลายเป็นดาวอับแสง ด้วยบทบาทการทำหน้าที่ที่แทบจะหาสาระหลักไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายหรือการยื่นกระทู้ถามในสภาฯ กลับไม่ได้แสดงความเป็นขุนศึกของฝ่ายค้านอย่างที่สมศักดิ์ศรี มีแต่วาทะที่เชือดเฉือนกระแนะกระแหนรัฐบาล
สำหรับเหตุการณ์เด่นแห่งปี คือ การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อหาทางออกกรณีวิกฤติการเมือง วาทะแห่งปี คือ "พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม" ส่วนคู่กัดแห่งปี คือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กับนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์
ส่วนตำแหน่ง "คนดีศรีสภาฯ" โหวตให้นายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีปัญหาสุขภาพ แต่พบว่ามีการเข้าประชุมสภาฯ และร่วมลงมติผ่านกฎหมาย 88 ครั้งจากการลงมติ 100 ครั้ง และในช่วงก่อนปิดสมัยการประชุมที่เกิดเหตุการณ์สภาล่มติดกันซ้ำซาก นายเจริญ ยังได้เข้าร่วมประชุมทั้งที่พึ่งเข้ารับการผ่าตัดโรคมะเร็งก่อนหน้านี้ 1 วัน จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนดีศรีสภา เพื่อเป็นตัวอย่างของคนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างสมศักดิ์ศรี
อย่างไรก็ดี ในครั้งนี้ไม่มีการตั้งฉายาผู้นำฝ่ายค้าน เนื่องจากพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำฝ่ายค้านไม่ตั้งหัวหน้าพรรคจากบุคคลที่เป็นส.ส.อยู่ในสภา ทำให้ไม่สามารถแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้