นายกล้าณรงค์ จันทิก โฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แถลงชี้แจงกรณีนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) ทำหนังสือเร่งรัดการไต่สวนดำเนินคดีของ ป.ป.ช. โดยอ้างว่ามีความล่าช้าและคดีใกล้หมดอายุความว่าทุกคดี ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากบางเรื่องมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งที่เป็นพยานบุคคล และพยานเอกสารเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการไต่สวนและรวบรวมพยานหลักฐานจึงส่งผลให้การดำเนินการล่าช้า
สำหรับ 5 คดีที่พรรคเพื่อไทย และนายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทย และเครือข่าย ยื่นหนังสือมาให้ ป.ป.ช.เร่งดำเนินการ ประกอบด้วย 1. การกล่าวหาคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน(ปรส.) และนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ อดีตรมว.คลัง กับพวก ขายทรัพย์สินของสถาบันการเงินในราคาถูก ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2 แสนล้านบาท โดยมีการแบ่ง 6 เรื่องย่อยออกไว้อีก ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดที่มีนายภักดี โพธิศิริ เป็นประธาน
2. การกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับเอกชนออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน นส.3 และ นส.3 ก.โดยมิชอบ ทับที่สาธารณะประโยชน์ "ทำเลเลี้ยงสัตว์โคกเขากระโดง" ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ โดยเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดที่มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไต่สวนอีกไม่นานจะแล้วเสร็จ
3. การกล่าวหาคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) 2 เรื่อง คือ การเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างจังหวัดและต่างประเทศโดยมิชอบ ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดที่มีนายภักดี โพธิศิริ เป็นประธาน
4. การกล่าวหานายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ อดีตรมช.พาณิชย์ ในการทุจริตโครงการยางพารา ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ชุดที่มีนายเมธี ครองแก้ว เป็นประธาน คาดว่าจะสามารถวินิจฉัยได้ภายในเดือนม.ค.53
5. คำร้องขอถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 5 คน คือ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง, นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง, นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ, นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย
โดยกรณีนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้เข้าชื่อกับ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนรัฐมนตรีที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตและกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
สำหรับข้อกล่าวหาของนายอภิสิทธิ์ ประกอบด้วย การไม่ส่งผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ ลงเลือกตั้งเมื่อ 2 เม.ย.49, การเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย, เป็นตัวการสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้บุกยึดทำเนียบรัฐบาล และสนามบินแห่งชาติ และกรณีสั่งการให้บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือส่ง sms ในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
ข้อกล่าวหาของนายกรณ์ คือ ร่วมกันกระทำการกับนายกรัฐมนตรี กรณีสั่งการให้บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือส่ง sms ในการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, ข้อกล่าวหาของนายประดิษฐ์ คือ ร่วมกับนายกรัฐมนตรี ปกปิดซ่อนเร้นการรับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง จากบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ข้อกล่าวหาของนายกษิต คือ การปล่อยให้ประเทศเพื่อนบ้านทำถนนรุกล้ำดินแดนของไทย เพื่อเป็นทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร,ข้อกล่าวหาของนายชวรัตน์ คือ การเสนอแต่งตั้งนายวิชัย ศรีขวัญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยมิชอบ และข้อกล่าวหาของนายบุญจง คือ ร่วมกับนายชวรัตน์ ในการก้าวก่ายแทรกแซงการบริหารและจัดสรรงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)
โดยเนื่องจากทั้ง 5 คำร้องมีความเกี่ยวพันกัน ป.ป.ช.จึงให้รวมสำนวนทั้งหมดเข้าด้วยกัน แล้วให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เต็มคณะร่วมไต่สวน คาดว่าจะสามารถวินิจฉัยได้ภายในต้นปีนี้