นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับการที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติให้ทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ในการชี้มูลความผิดของ 3 นายตำรวจใหญ่ หลังจากทั้งสองหน่วยงานมีความเห็นไม่ตรงกัน
ทั้งนี้ การที่นายตำรวจทั้ง 3 ได้แก่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีต ผบก.ภ.จ. อุดรธานี ซึ่งถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หน้ารัฐสภาเมื่อ 7 ต.ค.51 ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งในที่ประชุม ก.ตร.มีความเห็นว่าข้อท้วงติงผลการชี้มูลความผิดของนายตำรวจทั้ง 3 เป็นเรื่องที่ฟังขึ้น
นายสุเทพ กล่าวว่า ในส่วนของ พล.ต.ท.สุชาติ และพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ทางรักษาการผู้บัญการตำรวจแห่งชาติสามารถมีคำสั่งให้กลับเข้ามารับราชการได้เหมือนเดิม แต่ในส่วนกรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นเรื่องที่ ก.ตร.ต้องส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดวินิจฉัยว่าจะดำเนินการอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องของข้อกฎหมายเนื่องจาก ป.ป.ช.ก็ใช้อำนาจตามของป.ป.ช. ขณะที่ นายตำรวจทั้ง 3 นายก็ใช้ช่องตามกฎหมายของพ.ร.บ.ของตำรวจ ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งทางกฎหมาย ซึ่งหากเป็นประเด็นขัดแย้งในลักษณะนี้ก็อาจจะต้องส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ที่ประชุม ครม.มีมติว่าเมื่อมีความเห็นแตกต่างกันระหว่างหน่วยงานเกิดขึ้นก็ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะใช้กฎหมายใดเป็นที่สิ้นสุด
นายสุเทพ ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การกลับมติ แต่เป็นเรื่องของการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะเมื่อ ป.ป.ช.มีคำสั่งชี้มูลเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างก็ได้ดำเนินการลงโทษตามขั้นตอนแล้ว แต่เมื่อมีช่องทางในการอุทธรณ์ได้ และฟังขึ้นก็ส่งเรื่องเข้าที่ประชุม ก.ตร.ก็ต้องย้อนกลับมาคืนสิทธิให้กลับมารับราชการต่อ ทุกอย่างเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย