In Focusเปิดมหกรรมอารักขาน่านฟ้าสหรัฐ...และการปฏิบัติภารกิจพิชิตก่อการร้าย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 6, 2010 13:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในช่วงเวลาแห่งการเปิดศักราชใหม่อย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้ สิ่งที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจคือการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยในการโดยสารบนเครื่องบิน หลังจากเหตุเที่ยวบินระทึกขวัญรับวันคริสต์มาสได้จุดชนวนความหวาดผวาขึ้นบนน่านฟ้าพญาอินทรี โดยมีนายอูมาร์ ฟารูค อับดุลมูตอลลับ ชายชาวไนจีเรียวัย 23 ปี ผู้พยายามจุดชนวนระเบิดบนเครื่องบินแอร์บัส เที่ยวบินที่ 253 ของสายการบินนอร์ธเวสต์ แอร์ไลน์ เป็นต้นเหตุของความหวาดผวาครั้งล่าสุด

เมื่อความพยายามก่อเหตุระเบิดกลางอากาศบนเที่ยวบินที่เดินทางออกจากกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมุ่งหน้าไปยังเมืองดีทรอยต์ ในรัฐมิชิแกน ของสหรัฐล้มเหลว ทั่วโลกต่างตื่นตัวกับการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยในสนามบินด้วยรูปแบบต่างๆนานา วันนี้เราลองมาดูว่าประเทศไหนใช้อะไรเป็นไม้แข็ง ไล่ตั้งแต่สหรัฐ เป้าหมายที่ผู้ก่อการร้ายหวังทำลายเป็นอันดับหนึ่ง ไปจนถึงเนเธอร์แลนด์ ดินแดนต้นทางที่ปล่อยให้มือระเบิดเล็ดลอดขึ้นเครื่องบินไปได้อย่างหน้าตาเฉย

*จากเมืองลุงแซม...ถึงแดนกังหันลม

สหรัฐอเมริกา

ผู้โดยสารที่เดินทางเข้าสู่สหรัฐคงต้องทำใจยอมรับกับความยุ่งยากของกระบวนการเข้าประเทศอยู่ไม่น้อย เมื่อสำนักงานความปลอดภัยด้านการคมนาคมขนส่ง (Transportation Security Administration: TSA) ประกาศให้ผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศที่จะเดินทางเข้าสู่สหรัฐมาถึงสนามบินเร็วกว่าที่เคยปฏิบัติเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อสแกนร่างกายในด่านแรก พร้อมตรวจสอบกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ที่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะผู้โดยสารจาก 14 ประเทศ ที่ถูกขึ้นบัญชีดำอันได้แก่ คิวบา อิหร่าน ซูดาน ซีเรีย อัฟกานิสถาน แอลจีเรีย อิรัก เลบานอน ลิเบีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ซาอุดีอาระเบีย โซมาเลีย และเยเมน ที่ต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดกวดขันมากกว่าผู้โดยสารจากชาติอื่นๆ

หลังเสร็จสิ้นขั้นตอนก่อนขึ้นเครื่องแล้ว ระหว่างที่อยู่บนเครื่อง ผู้โดยสารจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของลูกเรืออย่างเคร่งครัด อาทิ การปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และนั่งอยู่กับที่ในชั่วโมงสุดท้ายก่อนเครื่องลงจอด ตลอดจนการห้ามเข้าห้องน้ำ และเปิดช่องเก็บของเหนือศีรษะ เช่นเดียวกับหมอนและผ้าห่มที่จะถูกเรียกเก็บก่อนลงจอด 1 ชั่วโมง

แคนาดา

สนามบินในแคนาดาบางแห่งงัดกฎเหล็กห้ามไม่ให้ผู้โดยสารถือกระเป๋าขึ้นเครื่อง ยกเว้นของจำเป็นและโน้ตบุ๊คเท่านั้น ขณะที่สายการบินแอร์ แคนาดา ประกาศจำกัดการนำสัมภาระขึ้นเครื่องในเที่ยวบินที่ไปยังสหรัฐ แต่อนุญาตให้นำกระเป๋าหรือสัมภาระรูปแบบอื่นๆ ขึ้นเครื่องได้เพียงชิ้นเดียว

เม็กซิโกซิตี้

เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานในเมือเม็กซิโกซิตี้ระบุว่า ผู้โดยสารบนเที่ยวบินที่มุ่งหน้าสู่สหรัฐทุกคนต้องไปถึงท่าอากาศยานล่วงหน้า 4 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาที่เครื่องบินออกเดินทาง เนื่องจากต้องผ่านมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยในร่างกายและสัมภาระอย่างละเอียดตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ และวัยชรา ไม่เว้นแม้แต่ทารก

อังกฤษ

สายการบินบริติช แอร์เวย์ส ประกาศจำกัดการนำสัมภาระขึ้นเครื่องในเที่ยวบินที่ไปยังสหรัฐ โดยอนุญาตให้นำกระเป๋าหรือสัมภาระรูปแบบอื่นๆ ขึ้นเครื่องได้เพียงชิ้นเดียว ขณะที่อลัน จอห์นสัน รัฐมนตรีกิจการภายในของอังกฤษแถลงถึงการพิจารณาติดตั้งเครื่องสแกนร่างกายแบบเต็มตัวในสนามบินต่างๆของอังกฤษโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยสนามบินฮีธโทรว์ในกรุงลอนดอนนำร่องการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการสกัดกั้นเหตุก่อการร้ายที่นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ของอังกฤษมองว่าเป็นภัยก่อการร้ายรูปแบบใหม่ โดยจะมีการติดตั้งเครื่องสแกนนี้ไว้ตามจุดต่างๆเพิ่มมากขึ้น

โปแลนด์

โฆษกสนามบินในกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์แถลงว่า เจ้าหน้าที่โปแลนด์คุมเข้มการตรวจตราด้านความปลอดภัยที่สนามบิน โดยเฉพาะเที่ยวบินที่ไปยังสหรัฐทุกเที่ยวบิน ซึ่งผู้โดยสารทุกคนที่บินตรงไปยังสหรัฐจะต้องผ่านเครื่องตรวจจับวัตถุอันตรายที่มีขนาดเล็กที่สุดเช่น ระเบิด หรือยาเสพติด นอกจากนี้ กระเป๋าถือก็ต้องมีการตรวจตราอย่างละเอียดไม่แพ้กัน

สิงคโปร์

สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลนส์ ออกแถลงการณ์ว่า ได้นำระเบียบใหม่มาใช้กับเที่ยวบินจากเอเชียที่มุ่งหน้าไปยังสหรัฐโดยระบุว่า 1 ชั่วโมงก่อนเครื่องบินลงจอดที่สนามบินในสหรัฐอเมริกา ผู้โดยสารทุกคนจะต้องนั่งอยู่กับที่ ห้ามนำกระเป๋าถือมาไว้ใกล้ตัว ห้ามมีผ้าห่มคลุมปกปิด และต้องปิดการใช้เครื่องมืออุปกรณ์เพื่อความบันเทิงทั้งหมด

เนเธอร์แลนด์

สนามบินสคิปโพล ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ของเนเธอร์แลนด์ ได้เริ่มต้นใช้เครื่องสแกนเนอร์ประสิทธิภาพสูงซึ่งสามารถตรวจจับภาพทั้งร่างกายเต็มรูปแบบสำหรับเที่ยวบินที่มุ่งหน้าสู่สหรัฐในทันทีที่มีข่าวความพยายามก่อวินาศกรรมบนเครื่องบินในวันคริสต์มาส ในฐานะที่ประเทศนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ปล่อยให้คนร้ายหลุดรอดมาตรการตรวจสอบในส่วนของประตูทางเข้า รวมถึงเครื่องสแกนสัมภาระและอุปกรณ์ตรวจจับโลหะ

โดยปัจจุบัน สนามบินดังกล่าวมีเครื่องสแกนที่สามารถเอ็กซเรย์ร่างกายแบบเต็มตัวอย่างละเอียด 15 เครื่อง แต่การใช้งานยังเป็นไปอย่างจำกัด

*เครื่องสแกนร่างกายแบบเต็มตัว…หลากเสียงชื่นชม หลายเสียงก่นด่า

เครื่องสแกนร่างกายแบบเต็มตัว ดูเหมือนจะเป็นอุปกรณ์ที่มีการพูดถึงการอย่างกว้างขวางสำหรับนำมาใช้เพื่อเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยด้านการโดยสารบนเครื่องบิน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่สามารถตรวจพบวัตถุต่างๆซึ่งซุกซ่อนไว้ในร่างกายได้อย่างชัดเจนภายในเวลา 15-30 วินาที ด้วยสนนราคาระหว่าง 130,000-200,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแพงกว่ามากเมื่อเทียบกับเครื่องตรวจโลหะในลักษณะของประตูเดินผ่านตามสนามบินทั่วโลกที่มีราคาเพียง 10,000 ดอลลาร์

โดยชุดสแกนเนอร์ชนิดนี้ มีรูปร่างคล้ายคอกขนาดเล็กซึ่งจะอาศัยความถี่คลื่นวิทยุในการสแกนร่างกายผ่านเข้าไปใต้เสื้อผ้าของผู้ที่กำลังอยู่หน้าเครื่องสแกน ซึ่งจะไปปรากฏเป็นภาพสามมิติบนจอคอมพิวเตอร์อย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่เว้นแม้แต่ส่วนเว้าส่วนโค้งไปจนกระทั่งถึงไขมันหน้าท้อง

จากจุดนี้เองได้ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านจากกลุ่มผู้รณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ออกมาต่อต้านการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะสหภาพเสรีภาพพลเรือนอเมริกันที่แสดงความเห็นว่า การสแกนร่างกายส่วนที่อยู่ใต้เสื้อผ้านั้นเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวจะแสดงให้เห็นสรีระทุกสัดส่วนอย่างโจ่งแจ้งเกินงาม ถึงขั้นประณามว่าเป็น "เครื่องแก้ผ้าเพื่อค้นร่างกาย" กันเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากเครื่องสแกนประเภทนี้จะสร้างความลำบากใจให้ผู้โดยสารบางกลุ่มแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินจากสมาคมขนส่งทางอากาศนานาชาติหรือ (IATA) ยังแสดงความเห็นติติงถึงจุดอ่อนสองประการของสแกนเนอร์แบบเต็มตัว คือ ความสูงของราคา และระยะเวลาการทำงานที่กินเวลานานเกินควร

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับลัทธิก่อการร้ายแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ระบุว่า นอกจากวิธีสแกนร่างกายแบบเต็มตัวแล้ว คงไม่มีวิธีอื่นใดที่จะใช้ตรวจวัตถุต้องสงสัยที่อาจซุกซ่อนมาในร่างกายของผู้โดยสารได้ดีเท่านี้ เพราะลำพังแค่มาตรการรักษาความปลอดภัยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็ไม่สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดพีอีทีเอ็น ชนิดที่อับดุลมูตอลลับแอบนำขึ้นเครื่องได้ และแม้จะมีการใช้มาตรการตรวจร่างกายซ้ำสองครั้งไปก็อาจไร้ผล เพราะหากมีผู้ไม่หวังดีนำระเบิดดังกล่าวซุกซ่อนไว้อย่างมิดชิดในห่อพลาสติกหลายๆชั้น ก็อาจเล็ดลอดจากสัญชาติญานของสุนัขดมกลิ่นได้ด้วยเหมือนกัน

จากเสียงตอบรับของการใช้เครื่องสแกนเต็มตัวที่เกิดขึ้นทั้งในแง่บวกและแง่ลบทำให้เจ้าหน้าที่บางรายในสหรัฐต้องวางตัวเป็นกลางและหาวิธีใช้งานเครื่องดังกล่าวแบบพบกันครึ่งทาง โดยหวังให้บริษัทผู้ผลิตสแกนเนอร์เต็มตัวพัฒนาซอฟท์แวร์ที่สามารถตรวจพบวัตถุต้องสงสัยบนตัวของผู้เดินทางด้วยการเคารพต่อความเป็นส่วนตัวมากกว่านี้

เหตุการณ์ชวนขวัญผวาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ทั่วโลกกำลังชื่นมื่นกับเทศกาลแห่งความสุข อาจช่วยทำให้หลายคนฉุกคิดถึงการใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ในยามที่หลายคนต่างหลงระเริงไปกับสีสันและบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่ ขณะที่การเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในสนามบินทั่วโลก คือ ความหวังอันยิ่งใหญ่สำหรับการปฏิบัติภารกิจพิชิตก่อการร้าย ดังนั้น จึงไม่สำคัญว่า น่านฟ้าที่ทั่วโลกช่วยกันอารักขาจะเป็นของสหรัฐอเมริกา หรือของประเทศไหนๆ เพราะที่สุดแล้วไซร้ เราทุกคนยังต้องร่วมหายใจ อยู่ภายใต้น่านฟ้าเดียวกัน...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ