นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) กล่าวภายหลังการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันระหว่างแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ที่นำโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา และนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย(ภท.)วันนี้ว่า การหารือครั้งนี้มี 2 วัตถุประสงค์สำคัญ ส่วนแรกเพื่อเป็นการประกาศความร่วมมือร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองด้วยกันตลอดไปทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ไปในทิศทางเดียวกัน
"ทั้งภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาได้ตกลงร่วมกันที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องอนาคตของประเทศไทย" นายชุมพล กล่าว
โดยมองว่ารัฐธรรมนูญปี 50 มีความจำเป็นจะต้องแก้ไขใน 2 ประเด็นเร่งด่วนก่อน กล่าวคือ ประเด็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง-ที่มาของ ส.ส. และประเด็นเรื่องการลงนามในข้อตกลงที่มีผลผูกพันระหว่างประเทศ โดยเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เห็นว่าต้องแก้ไขเพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในปัจจุบันทำให้ประชาชนไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมจาก ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้ง และอาจทำให้ประชาชนมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป
ส่วนเรื่องการลงนามในข้อตกลงที่มีผลผูกพันระหว่างประเทศนั้น จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความสะดวกและคล่องตัวต่อการบริหารงานของรัฐบาลในการเข้าร่วมประชุมและเจรจากับต่างประเทศ ซึ่งหากไม่แก้ไขจะส่งผลเสียในเรื่องการแข่งขัน ทำให้ประเทศเสียโอกาส
"เวลาไปประชุมต่างประเทศแล้วอายเขา เพราะไม่มีอำนาจไปต่อรอง จะทำอะไรต้องมาขออนุมัติจากรัฐสภาก่อน" หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าว
นายชุมพล เชื่อว่า การเสนอยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 อย่างเร่งด่วนใน 2 ประเด็นดังกล่าว ซึ่งอยู่ใน 6 ประเด็นตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย โดยขณะนี้เสียงที่สนับสนุนการยื่นญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเกินกว่า 95 เสียงแล้ว ซึ่งเป็นเสียง 1 ใน 5 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรวม 2 ประเด็นไว้ในฉบับเดียว
"เรื่องนี้ไม่ได้ไปกดดันใคร เพราะเราก็ทำความเข้าใจกับนายกฯ มาตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าเป็นเรื่องของรัฐสภา ไม่มีรัฐบาล ไม่มีฝ่ายค้าน" นายชุมพล กล่าว พร้อมระบุว่า พรรคชาติไทยพัฒนาจะรับหน้าที่ประสานกับพรรคการเมืองอื่นๆ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายชุมพล กล่าว การดำเนินการในขณะนี้ยังไม่ได้มองเลยไปถึงขั้นว่าจะมีพรรคการเมืองใดสนับสนุนต่อแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็นข้างต้น เพราะขณะนี้ยังอยู่เพียงขั้นเริ่มต้นก่อนเสนอญัตติเข้าสู่สภาฯ
"ตอนนี้ มันแค่ขั้นตอนการปล่อยจรวด ส่วนจะไปถึง หรือไม่ถึง ค่อยว่ากันอีกที" นายชุมพล กล่าว
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็นดังกล่าว อาจจะต้องแก้ไขกฎหมายในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น มาตรา 94 ซึ่งเป็นเรื่องที่มาของ ส.ส.แบบแบ่งเขต ก็จะต้องแก้ไขในมาตรา 95, 98,103 และ 109 ด้วย ส่วนมาตรา 190 จะตัดเฉพาะวรรค 5 ออกไปแล้วแก้ไขให้กำหนดประเภท ขั้นตอน และวิธีการทำสัญญาให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญตีความไว้ครอบจักรวาล