ประธานสภาฯ แจงบรรจุญัตติแก้ไข รธน.เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญต่อบ้านเมือง

ข่าวการเมือง Wednesday January 20, 2010 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงถึงสาเหตุที่บรรจุระเบียบญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง โดยยืนยันวางตัวเป็นกลาง ไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อหวังผลทางการเมือง

"เรื่องนี้ค้างอยู่ในวาระการประชุมนานแล้ว น่าจะนำขึ้นมาหารือกันได้แล้ว เมื่อทุกพรรคก็อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าควรหยิบยกมาพิจารณาให้แล้วเสร็จเสียที แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะพิจารณาได้ทันหรือไม่ เนื่องจากยังมีอีกหลายเรื่องรอการพิจารณาอยู่" นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าว

ทั้งนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุระเบียบวาระรายงานผลการศึกษาปัญหาการบังคับใช้เพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ซึ่งค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.52 ไว้ในเรื่องที่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้วเป็นเรื่องแรก

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้หวังผลเพื่อกดดันพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล หรือรับใบสั่งมาจากใคร

"ไม่ได้บีบ แต่เรื่องนี้ค้างในสภาผู้แทนราษฎรมานานแล้ว ผมไม่ได้รับลูกจากใคร แต่พิจารณาด้วยสมองของตัวเอง" นายชัย กล่าว

ส่วนกรณีที่มีพรรคการเมืองผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็น คือ มาตรา 190 และที่มาของ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น นายชัย กล่าวว่า ตนเองวางตัวเป็นกลาง หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรแก้อย่างไรก็ว่าตาม แต่ขณะนี้ยังมีญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ของ นพ.เหวง โตจิราการ และคณะ ค้างอยู่ในเรื่องที่ค้างการพิจารณาของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในลำดับแรก ซึ่งมักถูกเลื่อนการพิจารณาออกไปก่อนทุกครั้ง และไม่คิดว่าการผลักดันให้มีการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้การเมืองร้อนแรง

"คิดว่าน่าจะเย็นขึ้น เพราะเมื่อได้พูดจะทำให้คนหายเครียด" นายชัย กล่าว

ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หากพรรคร่วมรัฐบาลเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมา ตนเองก็ต้องตรวจสอบรายชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ถ้าไม่มีปัญหาก็สามารถบรรจุเข้าวาระประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ทันที ซึ่งจะทำโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อบ้านเมือง และหากทำตามระบบญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของ นพ.เหวง และคณะจะต้องได้รับการพิจารณาก่อน ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยก็โหวตให้ตกไปได้ แต่ถ้าที่ประชุมเห็นด้วยต้องตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาต่อไปอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ