อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ค้านแนวคิดในการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เพียงสองประเด็น เนื่องจากเห็นว่าไม่มีหนทางที่จะช่วยให้เกิดความสมานฉันท์ในบ้านเมืองได้เลย
"ผมคิดว่าถ้าเดินไปอย่างนี้บ้านเมืองสมานฉันท์ไม่ได้ เราอยากให้มันเกิดสมานฉันท์และเดินไปด้วยกัน ไม่มีเหลี่ยมอะไรกัน ให้ทุกคนคิดว่าเรื่องของบ้านเมืองทุกคนต้องช่วยกันคิด ร่วมแก้ไขให้ตรงไปตรงมา" นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าว
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มีข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น แต่ต่อมาวิปฝ่ายค้านขอถอนตัวจากที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อผลักดันให้มีการนำรัฐธรรมนูญปี 40 ทั้งฉบับมาใช้แทนรัฐธรรมนูญปี 50
ล่าสุดพรรคชาติไทยพัฒนา รับเป็นหัวขบวนเดินหน้าหาแนวร่วม เริ่มจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อแผ่นดิน เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ในสองประเด็น คือ มาตรา 190 และที่มา ส..ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
"ขณะนี้ทุกฝ่ายวิจารณ์ว่า ที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอแก้ใน 2 ประเด็นเป็นเรื่องที่รัฐบาลรับรู้ แกนนำรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วย แค่นิ่งๆ เอาไว้เท่านั้นเอง" นายดิเรก กล่าว
อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลหันมามองแนวทางของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่เคยเสนอให้รัฐบาลไว้ทั้ง 3 กรอบ โดยลดอคติ ใส่ร้ายป้ายสีกัน และการเจรจากันเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องพูดกัน อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญอยากให้เป็นไปตามประเด็นที่ได้เสนอไว้ เพราะในระยะยาวต้องแก้รัฐธรรมนูญปี 50 ใหม่ด้วย มีข้อดีแต่ข้อเสียเยอะ เอาข้อดีเก็บไว้แก้ข้อเสีย โดยการตั้ง ส.ส.ร.3 ชุดใหม่ที่มาจากประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
"การที่ฝ่ายค้านถอนตัวไปและเสนอรัฐธรรมนูญปี 40 เข้ามานั้น ผมว่าฝ่ายค้านอ่านหมากเกมนี้ออก จึงได้เสนอแนวทางนี้ขึ้นมา เพื่อให้มีเครื่องมือต่อรองกับรัฐบาล ถ้าเรายังคิดกันอย่างนี้อยู่ไม่เอาชาติบ้านเมืองเป็นตัวตั้ง ความสมานฉันท์ก็คงจะยาก ในฐานะที่เราเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็อยากจะเห็นบ้านเมืองเดินไปได้ รัฐบาลทำงานได้ ดังนั้นเพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติก็ต้องพูดจากัน อย่าไปคิดว่าเอาประโยชน์ฝ่ายตัวเองเป็นหลัก ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่มีอะไรดีเท่ากับการมาคุยกัน" นายดิเรก กล่าว