นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แนะรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาการชะลอโครงการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดตามคำสั่งศาลปกครอง เนื่องจากแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมายังไม่ถูกทาง ขาดความชัดเจน ส่งผลให้ปัญหายังอยู่ในภาวะอึมครึมต่อไป ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ
"จากการติดตามอย่างใกล้ชิดพบว่ารัฐบาลมีความชัดเจนเกี่ยวการแก้ไขปัญหาเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือการหยิบยกมาตรา 67 วรรคสอง ขึ้นมาพิจารณา โดยเร่งรัดกรอบการปฏิบัติต่างๆ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและจัดตั้งองค์การอิสระ(ชั่วคราว) เท่านั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าปัญหามาบตาพุดคลี่คลายลง แต่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหายังคงอึมครึมต่อไป" นายปานปรีย์ กล่าว
การที่ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(JETRO) และหอการค้าต่างประเทศในไทย(JFCCT) ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายใน 2-3 เดือน ไม่เช่นนั้นนักลงทุนต่างประเทศอาจย้ายไปลงทุนที่อื่น
"เป็นครั้งแรกที่นักลงทุนต่างประเทศในไทยกล้าออกมาแสดงความเห็น จึงเป็นสัญญาณอันตรายที่รัฐบาลไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด" นายปานปรีย์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า โครงการที่ถูกสั่งระงับน่าจะกลับมาเริ่มดำเนินการได้ใน 6 เดือน เมื่อองค์ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง เสร็จเรียบร้อย และเมื่อวันที่ 16 ม.ค.53 นายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่มาบตาพุดแล้วให้ความหวังกับชาวบ้านว่าต่อจากนี้จะมีมาตรการเชิงรุก แก้ไขเรื่องการดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งกล่าวถึงสาเหตุที่เกิดปัญหาว่ามาจากความผิดพลาดจากการวางผังเมืองในอดีตกับการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย
ขณะที่อีกด้านหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหาภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) มีความเห็นว่า การทำ HIA ที่ยึดตามประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ คาดว่า น่าจะใช้เวลาอนุมัติ 6—8 เดือน และความเห็นของนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ระบุว่า เมื่อมีองค์ประกอบครบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง จะแก้ไขปัญหาโครงการที่ค้างในมาบตาพุดเสร็จภายใน 10 เดือน หากรวมกับเรื่องการเสนอร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งองค์การอิสระอย่างถาวรต่อรัฐสภาจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า12 เดือน
"ในส่วนนี้ 65 โครงการที่ทำ EIA แล้วแต่ยังไม่ได้ทำ HIA คงต้องรอไปอย่างน้อยอีก 8 เดือน กว่า HIA จะผ่าน ยังไม่รวมว่าจะต้องรอความเห็นประกอบจากองค์การอิสระอีกด้วย ก่อนที่จะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่าได้ดำเนินการครบถ้วนตามมาตรา 67 วรรค2 แล้ว ระยะเวลาตามที่ผู้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาภาครัฐระบุมาข้างต้นก็ยาวนานกว่าที่นายกรัฐมนตรีกำหนดไว้แล้ว ตรงนี้ต้องระมัดระวังอย่าให้ภาคเอกชนใน 65 โครงการเข้าใจผิด จนผิดหวังซ้ำสอง รัฐบาลต้องคิดว่าทุกนาทีที่ช้าไป คือต้นทุนความเสียหายของภาคเอกชนที่จะต้องแบกรับและผลกระทบต่อบรรยายกาศการลงทุน" นายปานปรีย์ กล่าว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ม.ค.53 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ไปยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองสูงสุดเรื่องการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็นองค์การอิสระในโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง โดยมิชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนยกเลิกระเบียบดังกล่าว
"นอกจากเรื่องเก่าที่รัฐบาลแก้ไขยังไม่จบก็ต้องประสบกับปัญหาใหม่ในข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งองค์การอิสระภายใต้มาตรา 67 วรรค 2 อีก รัฐบาลต้องกลับไปพิจารณาดูว่า ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบเพียงใด เป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกวิธีการ ถูกกฎหมาย และมีประสิทธิภาพหรือไม่" นายปานปรีย์ กล่าว
รองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า เป็นห่วงว่าการจัดตั้งองค์การอิสระภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจะทำให้การแก้ไขปัญหามาบตาพุดสะดุด หยุดลง และอาจสร้างปัญหาเพิ่มเติม เพราะคำถามที่ว่าองค์การอิสระตามความหมายของมาตรา 67 วรรค 2 ต้องออกกฎหมายมารองรับหรือไม่ หากมีการตีความว่าต้องออกเป็น พ.ร.บ.ที่เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่คณะรัฐมนตรีกลับใช้อำนาจในฐานะฝ่ายบริหารออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมาแทน แม้จะเป็นการชั่วคราวก็ไม่น่าจะถูกต้องเพราะอาจเป็นการฝ่าฝืนขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 303 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดทำ หรือปรับปรุงกฎหมายในหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับเฉพาะกรณีนี้โดยตรง คือ ส่วนที่ 12 ในรัฐธรรมนูญกล่าวถึงสิทธิชุมชนซึ่งมีอยู่ในมาตรา 66 และ 67
"ยิ่งน่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่ององค์การอิสระถูกทางหรือไม่ เพราะมีการเสนอร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรคือร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2552 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดในการดำเนินให้สอดคล้องกับมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ" นายปานปรีย์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่กำลังรอคอยการแก้ไขซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะ คือ มลภาวะที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในมาบตาพุดที่ยังไม่ได้แก้ไข เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นประเด็นข่าวน้อยกว่าเรื่อง 65 โครงการ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า 65 โครงการนี้เป็นโครงการใหม่ ยังไม่ได้ก่อมลภาวะใดๆ ทั้งสิ้น เพราะยังไม่เริ่มดำเนินการ ส่วนที่สร้างมลภาวะในพื้นที่ขึ้นมาคือโครงการที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน บางโครงการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และละเลยความรับผิดชอบต่อชุมชนเป็นต้นตอปัญหา ซึ่งปัญหาการร้องเรียนก็จะไม่จบลง แล้วจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังโครงการอื่นๆ ต่อไป
"รัฐบาลจะมองข้ามไปไม่ได้ หากแก้ไขไม่ถูกทาง เรื่องเกี่ยวกับ 65 โครงการ เรื่องมลภาวะ และการค้า การลงทุน ยิ่งถูกซ้ำเติมจนขยายสภาพปัญหาเพิ่มขึ้นไปอีกจนยากที่จะแก้ไขได้ ในที่สุดก็จะมีผลกระทบทำลายความเชื่อมั่นด้านการลงทุน รวมทั้งกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย ซึ่งจากสภาพปัญหายังอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลยังแก้ไขได้ ไม่สายเกินไป เพียงแต่ต้องพิจารณารอบคอบ อย่าให้เกิดความผิดพลาดในประเด็นข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญที่อาจนำไปสู่อุปสรรคของการแก้ไขปัญหาภาพรวมของมาบตาพุดต่อไป" นายปานปรียื กล่าว