In Focusโลกจับตา "พญามังกร" ปะทะ "พญาอินทรี" จากปัญหาเงินหยวนสู่ปมเดือดกูเกิล

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 27, 2010 14:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จีน และ สหรัฐอเมริกา คือ 2 มิตรประเทศมหาอำนาจที่มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ตั้งแต่ทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่กันคนละซีกโลก ไปจนถึงวิถีทางในการปกครองประเทศ โดยในขณะที่สหรัฐปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ จีนก็ยังคงยึดมั่นในระบอบคอมมิวนิสต์ จนได้รับฉายาว่า ดินแดนหลังม่านไม้ไผ่ ความแตกต่างดังกล่าวเป็นสาเหตุให้ทั้งสองมีมุมมองและทัศนคติที่ขัดแย้งกันในหลายเรื่อง และทำให้จีนกับสหรัฐเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาโดยตลอด

ปัจจุบัน แม้จีนได้แหวกม่านออกมาดูความเป็นมาเป็นไปและความเคลื่อนไหวของโลกภายนอก พร้อมเปิดรับวัฒนธรรมและการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยขจัดความขัดแย้งกับสหรัฐให้หมดไป มิหนำซ้ำความเห็นที่ไม่ลงรอยกันของสองประเทศได้เริ่มแตกออกเป็นหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม

การค้า

คำกล่าวที่ว่า เพื่อนรักมักแตกคอถ้าทำธุรกิจหรือการค้าร่วมกัน เป็นเรื่องที่จริงแท้ แม้เพื่อนที่ว่าจะเป็นถึงยักษ์ใหญ่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐและจีนก็ตาม

ในอดีตความขัดแย้งทางด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐยังไม่ปรากฏชัดนัก เพราะมูลค่าการค้าของสองประเทศยังมีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เป็นผู้นำปฏิรูปเศรษฐกิจจีนในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ด้วยการประกาศใช้นโยบาย 4 ทันสมัย ซึ่งเป็นการผสมผสานนโยบายพรรคคอมมิวนิสต์กับนโยบายทุนนิยมเข้าด้วยกันเพื่อนำพาจีนเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยะประเทศ รวมถึงเมื่อจีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ความบาดหมางระหว่างสองประเทศก็เริ่มปรากฎมาให้เห็น ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหามาจากมูลค่าการค้าสองประเทศที่ขยายตัวมากขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานบริหารศุลกากรจีน (GAC) ระบุว่า ในปี 2552 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกระหว่างจีนและสหรัฐ อยู่ที่ 2.983 แสนล้านดอลลาร์

ขณะที่จีนสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดการค้าได้มากขึ้น โดยในปีที่แล้วจีนผงาดโค่นแชมป์เก่าหกสมัยอย่างเยอรมนี กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของโลก แต่ในทางกลับกันจีนก็กลายเป็นประเทศที่ถูกมาตรการลงโทษหรือกีดกันทางการค้าจากประเทศอื่นๆมากเป็นอันดับหนึ่งด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะมาตรการจากสหรัฐอเมริกา

สถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศถูกจุดชนวนในเดือนก.ย.ปีที่แล้ว เมื่อรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ตัดสินใจประกาศมาตรการเก็บภาษีนำเข้ายางรถยนต์จากจีนในอัตรา 35% คิดเป็นมูลค่าปีละประมาณ 1.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีหรือที่จีนจะยอม โดยจีนได้ยื่นร้องเรียนไปยังองค์การการค้าโลกเพื่อคัดค้านการเก็บภาษีของสหรัฐทันควัน

ความวัวยังไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก เมื่อต้นปีนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ออกมาซัดจีนอีกระลอก ด้วยการประกาศเก็บภาษีสินค้าประเภทตะแกรงลวดที่นำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นในอัตรา 43 - 289% ต่อการนำเข้าผลิตภัณฑ์มูลค่ามากกว่า 300 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการป้องกันจีนทุ่มตลาด

นี่ยังไม่นับรวมหลายคดีก่อนหน้านี้ อาทิ คดีที่สหรัฐฟ้อง WTO ว่าจีนกีดกันการจำหน่ายสื่อของสหรัฐในประเทศจีน ด้วยการใช้มาตรการคุมเข้มการนำเข้าซอฟท์แวร์ หนังสือ ภาพยนตร์ และเพลงจากสหรัฐอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงกรณีการเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ ที่จีนได้แพ้คดีไปแล้ว

สถิติจากองค์การการค้าโลกเผยว่า จีนเป็นประเทศที่ถูกมาตรการแซงค์ชั่นมากที่สุดรวม 55 มาตรการ ส่วนสหรัฐตามมาอย่างประชิดที่ 49 มาตรการ โดยส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่สองประเทศใช้ตอบโต้กันเอง ซึ่งทำให้หลายฝ่ายมองว่า การต่อสู้ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐจะเข้มข้นและรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน

ค่าเงินหยวน

ปัญหาเรื่องค่าเงินหยวนเป็นปัญหาระหว่างสหรัฐและจีนที่มีมานมนาน นับตั้งแต่สมัยที่นายอลัน กรีนสแปน ยังดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ เขาได้ออกมาวิพากษ์นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีน และเรียกร้องให้จีนปล่อยค่าเงินหยวน ขณะที่จีนก็พยายามบ่ายเบี่ยง ด้วยความหวังว่าจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะเงินหยวนที่อยู่ในระดับต่ำจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของจีน

จวบจนกระทั่งปัจจุบันที่นายกรีนสแปนพ้นจากตำแหน่ง เรื่องค่าเงินหยวนก็ยังคงเป็นความขัดแย้งอันดับต้นๆระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งยังคงกดดันจีนอย่างต่อเนื่องให้ขึ้นค่าเงินหยวนหรือปล่อยให้เงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากกว่านี้ เพื่อที่สหรัฐจะได้สามารถลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดกับจีนที่มีอยู่เป็นจำนวนมหาศาล

ประเด็นนี้สร้างความเป็นเดือดเป็นแค้นให้กับวุฒิสมาชิกสหรัฐ จนเล็งที่จะใช้มาตรการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดตอบโต้จีนเพิ่ม โดยวุฒิสมาชิกสหรัฐและกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆของสหรัฐกล่าวหาว่า รัฐบาลจีนพยายามคุมเงินหยวนให้อ่อนค่าเพื่อหนุนให้สินค้าจีนมีราคาถูกและได้เปรียบสินค้าจากประเทศอื่นๆ อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐต้องเสียดุลการค้าให้จีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จีนได้ยกเลิกการผูกติดค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2548 จนทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นราว 21% ก่อนที่จะตัดสินใจกลับมาผูกติดเงินหยวนกับเงินดอลลาร์อีกครั้งเมื่อเดือนก.ค. 2551 หลังภาคส่งออกของจีนถูกพิษวิกฤติเศรษฐกิจโลกเล่นงานอย่างหนัก

ทิเบต ไต้หวัน และอิหร่าน

จีนปฏิบัติต่อทิเบตและไต้หวันในฐานะดินแดนส่วนหนึ่งของจีน พร้อมทั้งบีบบังคับให้ประชาคมโลกยึดหลักนโยบายจีนเดียวด้วย ส่งผลให้องค์ดาไล ลามะ เป็นบุคคลต้องห้ามของหลายประเทศ ขณะที่การติดต่อทำการค้ากับไต้หวันเท่ากับเป็นการทรยศหักหลังจีน

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดเหตุจลาจลในกรุงลาซาระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนเอกราชทิเบตและเจ้าหน้าที่จีนเมื่อเดือนมี.ค. 2551 ซึ่งถือเป็นการลุกฮือประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ที่รัฐบาลจีนเข้าปกครองทิเบตมา 50 ปี ก็ทำให้หลายฝ่ายออกโรงแสดงตัวสนับสนุนทิเบต และรุมตำหนิจีนที่ใช้กำลังรุนแรงปราบปรามกลุ่มผ้ชุมนุมประท้วง ด้านสหรัฐอเมริกา แม้รัฐบาลภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชในขณะนั้นจะสงวนท่าที ไม่กล้าออกมาแสดงความเห็นในเชิงลบต่อจีน แต่สภาคองเกรสก็เป็นตัวแทนถวายรางวัลเชิดชูเกียรติ ด้านสิทธิมนุษยชนแด่องค์ดาไล ลามะ นอกจากนี้ นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐยังได้เดินทางเข้าพบผู้นำจิตวิญญาณของทิเบตที่ธรรมศาลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตด้วย

มาดูที่ประเด็นไต้หวันกันบ้าง อาจกล่าวได้ว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุดประเด็นหนึ่งต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ดังจะเห็นได้จากการที่จีนออกมาย้ำเตือนสหรัฐอยู่เนืองๆเรื่องนโยบายจีนเดียว

โดยล่าสุด นาย หม่า จ้าวซู โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนเพิ่งออกมาเรียกร้องอีกครั้ง ให้จีนยุติการขายอาวุธให้ไต้หวัน พร้อมเตือนถึงผลเสียหายที่จะตามมา หลังจากที่มีรายงานว่า รัฐบาลสหรัฐตกลงที่จะขายอาวุธให้ไต้หวันอีก ซึ่งจะถือเป็นการอนุมัติข้อตกลงการขายอาวุธให้ไต้หวันครั้งแรกโดยคณะทำงานของประธานาธิบดีโอบามา

นายหม่าเรียกร้องให้สหรัฐปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐ โดยเฉพาะ "August 17 Communique" ซึ่งทั้งสองประเทศได้ลงนามกันเมื่อปีพ.ศ.2525 โดยสหรัฐได้ตกลงที่จะค่อยๆลดการขายอาวุธให้ไต้หวัน

ทั้งนี้ เมื่อปี 2551 จีนได้ลดการแลกเปลี่ยนทางด้านการทหารกับสหรัฐ หลังจากที่รัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อนุมัติข้อตกลงขายอาวุธให้ไต้หวันเป็นมูลค่า 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับอิหร่านนั้น แม้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางภูมิศาสตร์กับจีน แต่ก็ยังสามารถกลายเป็นประเด็นให้จีนและสหรัฐกระทบกระทั่งกันได้ไม่มากก็น้อย สืบเนื่องมาจากการที่สหรัฐทั้งกดดันและพยายามโน้มน้าวให้สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติรับมติคว่ำบาตรอิหร่านที่มีความรุนแรงขึ้น โทษฐานที่อิหร่านดื้อแพ่งทดลองนิวเคลียร์และยิงขีปนาวุธซึ่งสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้ชาวโลกเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสหรัฐที่เกรงว่า อิหร่านกำลังเดินหน้าผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ใช่การทดลองเพื่อสันติดังที่ประธานาธิบดีมาห์มูด อาห์มาดิเนจ๊าดของอิหร่านกล่าวอ้าง

ในขณะที่ประเทศพันธมิตรอย่าง อังกฤษ และ ฝรั่งเศส เห็นด้วยกับสหรัฐ แต่จีนและรัสเซียกลับเป็นหอกข้างแคร่ของสหรัฐ เนื่องจากทั้งคู่ไม่ค่อยจะเห็นด้วยนักกับการคว่ำบาตร แต่สนับสนุนให้ใช้การเจรจาทางการทูตมากกว่า

อย่าเพิ่งหลงคิดไปว่าจีนหรือรัสเซียใจดีกว่าอีกสามประเทศ แต่ที่จีนและรัสเซียพยายามทัดทานมาตรการแซงค์ชั่นนั้นก็เป็นเพราะ ทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ทางการค้ากับอิหร่านนั่นเอง

นโยบายรับมือภาวะโลกร้อน

ถ้าจะกล่าวว่าการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นเวทีแห่งความขัดแย้งก็คงไม่ผิดนัก เมื่อประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาเกี่ยงกันอย่างเอาเป็นเอาตายว่าใครควรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควรลดมากน้อยแค่ไหน และประเทศยากไร้ควรได้รับความช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด

โดยฝ่ายประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในแกนนำ พยายามเรียกร้องให้นานาประเทศตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ โดยพุ่งเป้าไปที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งกำลังถูกเพ่งเล็งว่าเป็นกลุ่มที่ปล่อยมลพิษทำลายชั้นบรรยากาศของโลกมากที่สุด แต่ประเทศเหล่านี้ ซึ่งมีจีนและอินเดียเป็นโต้โผใหญ่ก็แย้งว่า ไม่ควรบีบประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษ เพราะทุกประเทศย่อมต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อน

การปล่อยก๊าซคาร์บอนถือเป็นประเด็นละเอียดอ่อนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา อย่าง จีน และ อินเดียซึ่งโต้ว่าการลดการปล่อยคาร์บอนจะเป็นการจำกัดการพัฒนาของประเทศ และแย้งว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา ควรลงมือปฏิบัติเอง เพราะที่ผ่านมาประเทศเหล่านี้เป็นตัวการทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าดีใจว่า ในบรรดาความขัดแย้งทั้งหมด สหรัฐและจีนดูจะพยายามประสานความเข้าใจในประเด็นนี้มากที่สุด โดยต่างฝ่ายได้ประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ โอบามายังพยายามขอเสียงสนับสนุนกฎหมายลดโลกร้อนจากวุฒิสภา หลังจีนและอินเดียยอมอ่อนข้อที่จะลดการปล่อยก๊าซมากขึ้น

การประชุมโลกร้อนที่โคเปนเฮเกนได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยข้อตกลงที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ระบุถึงเป้าหมายในการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งทุกชาติจะต้องส่งแผนการดำเนินงานดังกล่าวภายในสิ้นปี 2553 และประเทศที่พัฒนาแล้วจะต้องให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือกับภาวะโลกร้อนด้วย

กูเกิล

กูเกิล ยักษ์ใหญ่เสิร์ชเอ็นจินของสหรัฐ กลายเป็นปมขัดแย้งล่าสุดของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ กูเกิล ออกมาขู่ว่าจะปิดเว็บ Google.cn และถอนธุรกิจออกจากจีน หลังจากที่บริษัทตรวจพบว่า แฮคเกอร์ในจีนแอบเจาะเข้าไปในบัญชี Gmail ของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในจีน ยุโรป และสหรัฐ ตลอดจนปัญหาที่สั่งสมมาจากการที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนใช้ระบบติดตามตรวจสอบอินเทอร์เน็ตเพื่อปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและอาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของจีน

การป่าวร้องดังกล่าวของกูเกิลได้กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในทันที เมื่อนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐออกโรงตำหนิจีนด้วยถ้อยคำที่ถือเป็นการกล่าวหาอย่างรุนแรงว่า จีนปิดกั้นเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต พร้อมเรียกร้องให้จีนยกเลิกการควบคุมอินเทอร์เน็ต และเร่งสืบหาความจริงเกี่ยวกับประเด็นกูเกิลถูกแฮคข้อมูล

ด้านกระทรวงต่างประเทศจีนออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐว่า จีนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีทางอินเทอร์เน็ต พร้อมกับเตือนว่า ท่าทีของสหรัฐที่ออกมาหนุนหลังกูเกิลอย่างเต็มตัวและโจ่งแจ้งเช่นนี้ กำลังเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศ

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนก็ออกแถลงการณ์ตอบโต้สหรัฐว่า "ข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีทางอินเทอร์เน็ต ทั้งเปิดเผยและโดยอ้อม เป็นเรื่องไม่มีมูล แต่เป็นการมุ่งใส่ร้ายเพื่อทำลายชื่อเสียงของจีน" และยืนยันว่าจีนพร้อมให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในการปราบปรามอาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต

ขณะที่สื่อมวลชนจีน อาทิ นสพ.พีเพิล เดลี่ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็หนุนหลังรัฐบาลของตนเต็มที่ โดยเปิดสงครามน้ำลายว่า รัฐบาลสหรัฐและกูเกิลสมรู้ร่วมคิดกันทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองเพื่อจำกัดสิทธิของจีนในการปกป้องความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติบนโลกอินเทอร์เน็ต

“เห็นชัดๆว่า รัฐบาลสหรัฐอยู่เบื้องหลังในการทำให้เรื่องกูเกิลกลายเป็นประเด็นทางการเมือง" สื่อจีนระบุ พร้อมประกาศอย่างท้าทายว่า จีนสามารถอยู่ได้โดยไม่มีกูเกิล

บทสรุปความสัมพันธ์จีน-สหรัฐจะออกมาในรูปไหน ดีขึ้น หรือ เลวลง นั้น ยังไม่มีใครทราบได้ แต่ก็หวังว่าจะเป็นดังถ้อยแถลงของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ซึ่งได้เน้นย้ำความสำคัญของการเคารพในผลประโยชน์หลักของแต่ละฝ่าย และการจัดการรับมือประเด็นความขัดแย้งที่อ่อนไหวด้วยวิธีการที่เหมาะสม

“ถ้ามองย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมา คุณจะเห็นว่าจีนและสหรัฐสามารถรักษาระดับความสัมพันธ์มาได้อย่างราบรื่นและมั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้มาง่ายๆ และจำเป็นที่จะต้องถนอมรักษาเอาไว้"

“ความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนและสหรัฐถือเป็นผลประโยชน์พื้นฐานของทั้งสองประเทศ ตลอดจนประชาชนจีนและสหรัฐ รวมถึงนำไปสู่การทำงานร่วมกันเพื่อสินติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรื่องของโลก"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ