นักวิชาการมองว่าความขัดแย้งของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ถึงขึ้นทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ แค่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความไม่พอใจที่อาจทำลายความสัมพันธ์ให้เปราะบางลงและอาจจะนำไปสู่จุดแตกหักได้ในอนาคตหากมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาประกอบ แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบวาระ ทั้งเรื่องการชุมนุม และ การเปิดแผลทุจริตคอร์รัปชั่น
แต่ยังมองต่างมุมในแง่ของอายุรัฐบาล บ้างเชื่อว่ารัฐบาลอยู่ไม่ครบวาระ และต้องมองเป็นสมัยประชุม แต่บางรายมองว่ารัฐบาลอยู่ได้เกินปี เพราะทุกพรรคยังไม่มีความพร้อมที่จะเลือกตั้งใหม่
*นักวิชาการชี้"ผลประโยชน์"เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้รัฐนาวาล่ม
นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลเกี่ยวการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลมากเท่ากับเรื่องผลประโยชน์ไม่ลงตัวและปัญหาคอรัปชั่น แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การแตกหักในอนาคตได้ และเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่สามารถบริหารประเทศได้จนครบวาระ
"ผมคิดว่าเขาตกลงกันได้ ถ้าจะทะเลาะกันต้องเรื่องผลประโยชน์มากกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญ...ในอนาคตพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องพึ่งฝั่งเพื่อไทย คงไม่อยู่กับประชาธิปัตย์ตลอด แต่ตอนนี้ได้ประโยชน์เต็มๆ มือ จนกว่าผลประโยชน์ไม่ลงตัวถึงไป"นายอัษฎางค์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันและวิเคราะห์สถานการณ์กันต่อไปเป็นระยะๆ เพราะปัจจัยต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะที่การยุบสภาจะเป็นหนทางสุดท้ายที่พรรคประชาธิปัตย์ตันสินใจทำเมื่อถึงทางตัน
"ปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเพียงตัวตั้ง เพราะจะมีปัญหาอื่นๆ ซ่อนเร้นอยู่ข้างใน"นายอัษฏางค์ กล่าว
ส่วนการทำรัฐประหารนั้นสามารถทำได้ตลอดเวลา แต่เชื่อว่าคงไม่เกิดขึ้น เพราะเงื่อนไขที่จะทำรัฐประหารยังไม่มีเพียงพอ อีกทั้งจะมีกระแสต่อต้านจากประชาชนอย่างมาก ประเทศจะถอยหลัง สถาบันทหารเองก็ไม่เป็นเอกภาพ มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย
"ครบเทอมคงลำบาก ต้องมองกันแต่ละสมัยประชุมกันเลย" นายอัษฎางค์ กล่าว
*ปัจจัยเสี่ยงเขย่ารัฐบาล"ม็อบแดง-ทุจริตคอรัปชั่น-บังคับใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน"
ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นต้องเปลี่ยนขั้วการเมือง หรือมีการยุบสภา เพียงแต่อาจสร้างความรู้สึกขุ่นเคืองให้กับบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลอยู่บ้าง โดยเฉพาะกรณีการไม่แก้รัฐธรรมนูญในประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง
ทั้งนี้ พรรคร่วมฯ ต่างต้องการให้เปลี่ยนจากการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ที่ใช้ในปัจจุบันมาเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่งเป็นการปูทางไว้ล่วงหน้าสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคต เพื่อให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กได้มีโอกาสขึ้นมาสอดแทรกบ้างไม่เช่นนั้นอาจต้องสูญพันธุ์ทางการเมืองไปก็เป็นได้
อีกเหตุผลที่เชื่อว่าความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังไม่ทำให้รัฐบาลล้มนั้น เนื่องจากเชื่อว่าสถานการณ์ในขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้น จากหลายปัจจัยทั้งเรื่องคะแนนนิยม และทุนทรัพย์ที่ใช้ในการหาเสียง ซึ่งหากมีการยุบสภาในช่วงนี้โอกาสที่พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจะกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้งดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก
"พรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ยังไม่มีความพร้อมในการเลือกตั้งใหม่ ทั้งในด้านคะแนนนิยม และด้านทุนทรัพย์ เพราะฉะนั้นหากออกไปตอนนี้ก็จะกลับมาได้ยาก...เชื่อว่ารัฐบาลยังอยู่ได้เกินปี" นายสมชัย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายสมชัย กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองในช่วงนี้คงไม่น่าจะมาจากปัญหาการแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่น่าจะมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.รัฐบาลต้องประคองสถานการณ์การชุมนุมที่จะมีขึ้นของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงไม่ให้เกิดความรุนแรง และ 2.รัฐบาลจะต้องไม่เปิดแผลใหม่ให้แก่ฝ่ายค้านนำมาใช้เป็นประเด็นตอบโต้ทางการเมืองเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการลงทุนต่างๆ หรือ การดำเนินการ 2 มาตรฐาน
"รัฐต้องประคองสถานการณ์ชุมนุมไม่ให้เกิดความรุนแรงบานปลาย ตรงนี้ต้องระวัง รวมทั้งต้องไม่เปิดแผลใหม่ให้อีกฝ่ายนำมาใช้โจมตีได้ ทั้งเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงการดำเนินการ 2 มาตรฐาน ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ในสถานการณ์ขณะนี้ผมว่ารัฐบาลเอาอยู่แล้ว"นายสมชัย กล่าว
*ประชาชนมองปัญหาความขัดแย้งในพรรคร่วมฯ กระทบเสถียรภาพรัฐบาล
ล่าสุด ผลสำรวจของ"สวนดุสิตโพล"ที่มีขึ้นในช่วงวันที่ 26-28 ม.ค.53 ระบุว่า ประชาชนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 78.26% มองว่าปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะหากพรรคร่วมฯ ไม่พอใจประกาศถอนตัวจากรัฐบาลย่อมส่งผลให้จำนวน ส.ส.ซีกรัฐบาลลดลง หรืออาจเกิดการสลับขั้วทางการเมืองใหม่ และในที่สุดอาจส่งผลให้มีการยุบสภา
อย่างไรก็ดี ประชาชนส่วนใหญ่ 61.95% ไม่เห็นด้วยกับทั้งซีกประชาธิปัตย์และซีกพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมองว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญความมาจากพื้นฐานปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่มาจากความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อีกทั้งไม่แน่ใจว่าการเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญในขณะนี้มีเงื่อนงำอื่นแอบแฝงหรือไม่