นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ชี้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทย(พท.) และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนายพลที่นำโดย พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี สมาชิกพรรค พท.กับแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงนั้นไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย แต่ห่วงจะกลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ทั้งนี้ ตนเองเคยศึกษาการทำงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยึดหลักแบ่งแยกและปกครอง เป็นทฤษฎีหนึ่งในทางรัฐศาสตร์ที่ผู้นำหลายคนเลือกใช้วิธีนี้ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ มีคนไว้ใช้งานหลากหลาย แต่ตอนที่อยู่ในอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังสามารถควบคุมคนเหล่านี้ได้ แต่เมื่อหมดอำนาจและกำลังอยู่ในช่วงที่คิดว่าตัวเองมีทางเลือกไม่มาก เวลาใครไปเสนอทางเลือกที่จะสู้หรือจะล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ก็รับเอาไว้ทั้งหมดก็เลยเกิดเป็นปัญหาขัดกันเอง
"ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ จะต่อสู้ทางการเมืองตามกฎเกณฑ์กติกา ตามวิถีทางประชาธิปไตย สู้อย่างไรก็ยินดี แต่เมื่อไปใช้คนบางกลุ่มบางพวกแล้วมีเป้าหมายที่จะดำเนินการโดยวิธีการที่ไม่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น มุ่งที่จะสร้างความวุ่นวาย ความรุนแรง ก่อจลาจล อย่างที่เคยประกาศมาว่าจะตั้งกองทัพประชาชน อย่างนี้เป็นเรื่องที่เดือดร้อนกับประชาชนก็ต้องตั้งหลักให้ดี แต่น่าดีใจที่ว่าแนวความคิดการตั้งกองทัพประชาชนเพื่อจะมาใช้ความรุนแรงจัดการกับรัฐบาล กระแสประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ถ้าจะยอมถอย ถอดเรื่องนี้ เลิกทำไปเลยก็จะดี" นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มุ่งหวังให้เกิดความรุนแรง ไม่ว่าจะมีเจตนาไปถึงขั้นไหนก็แล้วแต่จะเพ้อฝันกันไป แต่รัฐบาลจะพยายามดูแลควบคุมรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง โดยทหารจะเป็นกำลังส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่จะใช้ดูแลรักษาความสงบ เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานของตำรวจ นอกจากนี้ก็ยังมีพลเรือนบางส่วนเข้ามาช่วยด้วย
"การจะเอาทหารออกมาช่วยรักษาบ้านเมืองเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับรัฐบาลที่ต้องดำเนินการในกรณีที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีกำลังไม่เพียงพอในการตั้งรับ" นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า จะจัดกำลังไปดูแลทุกจังหวัดทั่วประเทศที่จะมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะได้ฟังบันทึกเทปปลุกระดมให้มีการบุกยึดศาลากลางจังหวัด เผาศาลากลางจังหวัดหรือสถานที่ราชการต่างๆ พร้อมกับบุกยึดทำเนียบรัฐบาล หรือสถานที่ราชการในกรุงเทพฯ จึงได้แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ ในต่างจังหวัดให้ผู้ว่าฯ ดูแลใช้กำลังตำรวจ อาสาสมัครพลเรือน และทหารในพื้นที่รักษาความสงบแลดูแลสถานที่ราชการ รวมทั้งสถานีวิทยุ ไม่ให้ถูกเผาทำลายหรือบุกยึด
ส่วนที่ตนเองได้กำชับให้ดูแลในพื้นที่ 38 จังหวัดนั้นมาจากการประเมินความเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ โดยมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลักในการดูแล หากไม่เพียงพอผู้ว่าฯ จะสั่งการใช้กำลังส่วนอื่นช่วยเสริม
"ก็พยายามที่จะทำแต่คงจะไม่สำเร็จ เพราะในหลายจังหวัดประชาชนต่อต้านไม่เอาด้วย รวมพลไปได้แค่เป็นสิบคนร้อยคน แต่ก็มีบางจังหวัดที่รวมคนได้เป็นหมื่น ก็ต้องติดตามดูแลความหนักเบาของสถานการณ์แต่ละจังหวัด จะพยายามรักษาให้สงบให้ได้" นายสุเทพ กล่าว