โฆษกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ระบุว่า กลุ่มเสื้อแดงเตรียมเปิดเผยข้อมูลที่อ้างว่าเป็นการแสดงเส้นทางการเงินจากกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่มอบให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก่อนที่จะเป็นประธานองคมนตรี ภายใน 1-2 วันนี้ และพร้อมมอบข้อมูลให้รัฐบาลหากสนใจที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว
"มีเส้นทางของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ที่มอบเงินให้พลเอกเปรมหลายล้านบาท หากคุณสุเทพหรือท่านนายกฯ สนใจที่จะนำข้อมูลไปให้ดีเอสไอ หรือ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ผมก็พร้อมให้ข้อมูล ซึ่งภายใน 1-2 วันนี้จะแสดงหลักฐานให้ประจักษ์ชัดต่อสังคม" นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โฆษก นปช.กล่าว
โฆษก นปช.กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการตรวจสอบในทางลับมาหลายวันก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดโปงถึงความไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่ประธานองคมนตรีต่อไป
นอกจากนี้ กลุ่ม นปช.ยังอ้างว่าพบข้อมูลในสมัยที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นแม่ทัพภาค 2 เคยมีการจับกุมและตรวจยึดการลักลอบตัดไม้ ต่อมาพบว่าของกลางหายไปและไปปรากฎเป็นเฟอร์นิเจอร์ของผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง นปช.จะนำเรื่องนี้ไปประกาศที่เขายายเที่ยงอีกครั้ง ส่วนกรณีเขาสอยดาวนั้นหากยังไม่มีความคืบหน้า กล่ม นปช.จัดไปชุมนุมที่บริเวณหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ
ขณะเดียวกัน โฆษก นปช.ปฏิเสธข่าวมีกระแสเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่ม นปช. แต่เป็นการกุเรื่องเพื่อใส่ร้าย ซึ่งหากนายปณิธาน วัฒนยากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ยังไม่หยุดพูดในเรื่องนี้ก็จะเป็นการลดตัวลงไปมีฐานะเทียบเท่ากับนายเทพไท เสนพงษ์ โฆษกประจำหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ส่วนกรณีที่กลุ่ม นปช.ยังไม่สามารถกำหนดวันชุมนุมใหญ่ที่ชัดเจนได้นั้น เนื่องจากการกำหนดยุทธวิธียังไม่ลงตัวแม้จะตกลงในเรื่องยุทธศาสตร์กันได้แล้วก็ตาม ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งภายในแกนนำของกลุ่ม นปช.ตามที่มีข่าว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์เพื่อกำหนดวันชุมนุมใหญ่ที่ชัดเจนอีกครั้ง
แต่ในวันที่ 15 ก.พ.กลุ่ม นปช.จะเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อทวงถามความคืบหน้าคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทเข้าพรรคประชาธิปัตย์ และมีความเป็นไปได้ที่จะเดินทางกลับไปชุมนุมที่เขายายเที่ยงและเขาสอยดาวอีก โดยจะรอมติที่ประชุมแกนนำกลุ่ม นปช.ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ก่อน
สำหรับการเดินทางมาชุมนุมที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ในวันนี้เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาคดีโดยใช้มาตรฐานเดียว เพราะจะเห็นว่ามีหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไม่มีความคืบหน้า เช่น คดี ปรส.ที่ใกล้จะหมดอายุความ, คดีทุจริตจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงในสมัยที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่า กทม. ซึ่งต่างจากคดีที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม นปช.หรือพรรคพลังประชาชน เช่น คดีสั่งสลายการชุมนุมฯ ของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งที่มาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คนที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง