กลุ่ม 40 ส.ว.เตือนรัฐบาลอย่าชะล่าใจหลังเกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าไปในบริเวณสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชย์การพระนคร และการลอบวางระเบิดซีโฟร์บริเวณศาลฎีกา โดยเชื่อสถานการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์หลังจากนี้ไป
"เรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะชะล่าใจไม่ได้ อยู่เฉยทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ได้ เอ็ม 79 มุ่งหมายที่ทำเนียบรัฐบาล มีอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฏีกาคนหนึ่งขึ้นเวทีเสื้อแดงกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าใช้คำว่าเห็นผู้นำรัฐบาลฆ่ามันเลย ได้ไม้เอาไม้ ได้มีดเอามีด ได้เหล็กเอาเหล็ก ได้ปืนเอาปืน ได้ระเบิดเอาระเบิด ไม่ผิด อาจารย์ใหญ่เป็นผู้พิพากษาศาลฏีกาศึกษามาแล้วทุกแง่มุมไม่ผิด นี่คือตัวชี้ว่าเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นแน่" นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวต่อที่ประชุมวุฒิสภา
ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ได้วิเคราะห์ข่าวที่มีผู้เตรียมการชุมนุมในเดือนนี้กระจายในกรุงเทพฯ 4-5 จุด หรืออาจมากถึง 7 จุด ในต่างจังหวัดไม่ต่ำกว่า 8 จุด โดยจุดที่เป็นเป้าหมายจุดหนึ่งคือบริเวณรัฐสภา ซึ่ง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าในบรรดาสถานที่อันตราย รัฐสภาเป็นสถานที่ที่มีการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดน้อยที่สุดกว่าทุกสถานที่อื่น
นอกเหนือจากสถานการณ์การชุมนุมที่น่าเป็นห่วงแล้ว ยังจะมีการสร้างสถานการณ์ที่จะเป็นการเติมเชื้อให้การชุมนุม เป็นต้นว่าการเผาสถานที่สำคัญ การยิงระเบิด การวางระเบิด เป็นต้น ตนเองจึงขอฝากไปยังประธานรัฐสภาให้กำชับการรักษาความปลอดภัยรัฐสภาควรมีการเตรียมแผนรับมือหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงในวันที่วุฒิสภามีการประชุมในวันที่ 26 ก.พ.รวมถึงวันที่ 1-3 มี.ค.
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การรักษาความปลอดภัยรัฐสภาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากรัฐสภาทำงานไม่ได้จะทำให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติทำงานไม่ได้ เชื่อว่าจะมีการใช้กำลังประมาณ 1 หมื่นคนในการยึดรัฐสภา
"ประธาน(วุฒิสภา)ควรหารือประธานรัฐสภาว่ามาตรการรักษาความปลอดภัยจะทำอย่างไร หากรัฐสภาถูกยึดโดยประชาชนเข้ามาในสภา เอกสารการประชุมจะดูแลอย่างไร ผมแปลกใจที่มีเหตุการณ์ยิงเอ็ม 79 มีการวางระเบิดซีโฟ 3 ปอนด์ เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุต้องการก่อเหตุแน่นอน" นายสมชาย กล่าว
ดังนั้นรัฐบาลควรต้องใช้การข่าวตรวจสอบเส้นทางการเงิน ทั้งการโอนเงินจากบ่อนที่ปอยเปต โดยกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากสัมปทานโรงไฟฟ้าที่เกาะกง รัฐบาลจึงควรไปตรวจสอบ ทั้งนี้แกนนำโดยเฉพาะนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรองที่ปลุกปั่นให้ผู้ชุมนุมนำน้ำมันล้านขวดเข้ามาในกรุงเทพฯ และให้ติดตามที่อยู่ของผู้พิพากษาศาลฎีกา ตนเองไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์เหล่านี้ทำไมจึงมีการถอนประกันตัว ตนเองเข้าใจว่าทางตำรวจพัทยาได้ดำเนินการแล้วแต่ไปติดขึ้นตอนของอัยการ
"เรื่องนี้ต้องควบคุมความรุนแรงก่อนโดยการถอนประกัน กรณีของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ที่เป็นผู้ปลุกปั่นและทำให้เกิดความรุนแรงทุกครั้ง จากการติดตามทราบว่าคดีของพลตรีขัตติยะยังไม่ถึงศาลทหาร คำสั่งพักราชการพลตรีขัตติยะ รัฐมนตรีกลาโหมก็ไม่ยอมลงนามคำสั่งถึงสองครั้ง ล่าสุดเพิ่งจะลงนาม ทำไมเรื่องเหล่านี้ยังช้าอยู่ยังไม่ไปถึงศาลทหาร" นายสมชาย กล่าว
ส่วน พล.อ.อ.วีระวิทย์ คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า รัฐบาลสามารถควบคุมกระบวนการที่จะนำวัตถุระเบิดเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้ตลอดเวลา โดยตรวจสอบและเข้มงวดการตรวจอาวุธ ต้องเอาจริงกับการควบคุมอาวุธสงคราม โดยดูแลหน่วยทหารอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการนำอาวุธสงครามเข้ามาในกรุงเทพฯ และหากไม่จำเป็นไม่ควรมีการฝึกในช่วงนี้ ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลไม่เข้มงวดในการควบคุมอาวุธสงครามหากเกิดเหตุการณ์การขึ้นจะเกิดความเสียหายอย่างมาก