(เพิ่มเติม) กฤษฎีกาไม่สามารถชี้ชัดอำนาจ ส.ว.พิจารณากรอบใช้จ่ายเงินตาม พ.ร.บ.กู้เงินฯ

ข่าวการเมือง Tuesday February 16, 2010 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันนี้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รายงานความเห็นให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ ต่อกรณีที่คณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภาขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำความเห็นว่าสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จะสามารถพิจารณากรอบการใช้จ่ายเงินในโครงการต่างๆ ตาม พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าวุฒิสภาจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาพ.ร.บ.เงินกู้ฯ ในการแก้ไขสาระในพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้วุฒิสภาสามารถพิจารณากรอบการกู้เงินได้หรือไม่ แต่กฤษฎีกามีความเห็นว่า ในขั้นตอนการที่จะเสนอกรอบการใช้เงินให้สภาฯ พิจารณายังไม่สามารถบอกได้ว่าแนวทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น จะพิจารณาทีละสภาฯ หรือจะมีการประชุมร่วม ซึ่งมีข้อสังเกตุว่าหากจะให้มีการประชุมร่วมน่าจะเกินเลยขอบเขตที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้สำหรับการประชุมร่วมรัฐสภา

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า ถ้ามีการตั้งกลไกในลักษณะกรรมาธิการ หรือ กรรมการต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยประธานสภานั้น คณะกรรมการกฤษฎีกามองว่าเรื่องนี้น่าจะเกินขอบเขตอำนาจที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะพิจารณาได้ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการตั้งกรรมาธิการร่วมฯ

แต่ทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นของกฤษฎีกาและยังไม่ได้เป็นข้อยุติ โดยจะมีการนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้งหมดส่งกลับไปให้กรรมาธิการพิจารณาอีกครั้ง และในขณะนี้เองช่องทางการตีความรัฐธรรมนูญ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ยกเว้นว่าจะพิจารณากฏหมายเสร็จสิ้นแล้ว และมีผู้สงสัยว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงจะสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความในช่วงนั้นได้

"ยังไม่มีช่องทางที่จะส่งได้ ณ ขณะนี้เป็นปัญหาจากระบบของเราที่มีประเด็นข้อสงสัยในเรื่องของรัฐธรรมนูญ แต่ว่ากรณียังไม่เกิดจึงไม่มีช่องที่จะส่งหรือส่งได้ก็ต่อเมื่อกฏหมายพิจารณาเสร็จแล้ว และหากมีคนสงสัยว่าจะขัดหรือไม่ ค่อยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตอนนั้น" นายกฯ กล่าว

นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่าในชั้นนี้ยังไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าการกำหนดความดังกล่าวเป็นกรณีที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและอาจเป็นการก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายบริหารหรือไม่ แต่มีข้อสังเกตว่าการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงเท่าที่แก้ไขมานี้ ในทางปฏิบัติก็ไม่อาจปฏิบัติได้ เพราะขาดความชัดเจนว่าสภาทั้งสองจะดำเนินการอย่างไรในการพิจารณา

ส่วนประเด็นที่ ครม. ขอหารือไปยังกฤษฎีกาว่า กรณีที่จะแก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 3 ให้ประธานรัฐสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาศึกษารายละเอียดของโครงการที่จะนำเงินกู้ไปใช้จ่ายแต่ละครั้ง แล้วให้เสนอผลการพิจารณากรอบการใช้จ่ายเงินกู้ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นหรือไม่อย่างไรนั้น ทางกฤษฎีกาเห็นว่าไม่อาจแก้ไขเพิ่มเติมมาตรการ 3 ตามแนวทางที่หารือได้เช่นกัน เพราะเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภา อีกทั้งยังเป็นการสร้างกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาขึ้นใหม่ จึงเป็นการขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

“คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ข้อหารือนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย ดังนั้น การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ"นายวัชระ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ