การประชุมวุฒิสภานัดพิเศษที่มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน มีวาระการพิจารณาดำเนินกระบวนการถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเป็นขั้นตอนการแถลงเปิดสำนวนตามรายงานและความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และการแถลงคัดค้านโต้แย้งคำแถลงเปิดสำนวนหรือรายงานพร้อมความเห็นของ ป.ป.ช.ตามข้อบังคับข้อ 120 วรรคหนึ่ง นำโดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหามีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พร้อมด้วยทนายความคือนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ และนายพิชิฏ ชื่นบาน ได้เดินทางมาด้วยตัวเอง
นายวิชาได้แถลงเปิดสำนวนโดยสรุปว่า ป.ป.ช.จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ ในฐานะกรรมการ ป.ป.ช.ขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุด และได้รับฟังเหตุผลจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้านแล้ว เมื่อผลสรุปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ระบุว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเป็นจำนวนมากรวมถึงผู้บริหารด้วย โดยคำสั่งของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่มีหนังสือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เปิดเส้นทางให้สมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาลนายสมชายให้ได้ จนนำมาสู่การสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่าได้รับคำสั่งมาจากนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่นายกรัฐมนตรียังไม่มีอำนาจในการสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจเพราะยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา
ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตของ น.ส.อังคณา ประดับปัญญาวุฒิ เกิดจากแก๊สน้ำตาที่มีสารองค์ประกอบของซีโฟร์อยู่ด้วย จึงไม่ใช่เกิดจากระเบิดที่กล่าวหาว่า น.ส.อังคณา พกพาติดตัวมาด้วย
ขณะที่นายสมชาย ปฏิเสธข้อหาที่ ป.ป.ช.ว่า ไม่มีมูลความจริง เพราะโดยข้อกฎหมายแล้วตามรัฐธรรมนูญปี 50 ให้อำนาจในการถอดถอนนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการบัญญัติให้ถอดถอนผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ มิใช่ถอดถอนผู้ที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว และขณะนี้ตนเองได้พ้นจากตำแหน่งมาเป็นเวลาปีเศษแล้ว จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องมาถูกถอดถอนอีก
อย่างไรก็ตาม นายสมชายได้แจกแจงว่า ตั้งแต่การเข้ามารับตำแหน่งจนถึงการถูกปิดล้อมและตัดน้ำตัดไฟจากกลุ่มผู้ชุมนุมจนไม่สามารถเดินทางออกจากรัฐสภาได้ จึงพยายามจะหนีออกด้านหลังรัฐสภาด้วยการปีนบันไดหนี พยายามหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ไม่ได้คิดถึงศักดิ์ศรีความเป็นนายกฯที่ต้องเดินออกไปจากสภาฯอย่างสง่างาม คิดเพียงว่าต้องการหนีความตายเท่านั้น แต่ในที่สุดก็ต้องถูกตั้งข้อกล่าวหา แต่คนที่จ้องจะเข้ามาทำร้ายตนและรัฐมนตรีกลับไม่มีการดำเนินการอย่างใดเลย จึงต้องขอความเป็นธรรมและความยุติธรรมให้กับตนและคณะด้วย
นายสมชาย แถลงอีกว่า หลังจากที่หนีตายมาได้ตนเองได้ไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมทำร้าย พบว่าแต่ละนายถูกแทงด้วยเสาธง ถูกรถวิ่งเข้าชน ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายสาหัส ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บนั้นกลับไม่ได้ร้ายแรงเท่ากับตำรวจ ตนเองเป็นนายกฯมีหน้าที่ดูแลทุกหน่วยงาน แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนกรณีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่นั้น ตนเองได้กำชับตั้งแต่ก่อนเดินทางออกจากรัฐสภาแล้วว่าไม่ให้มีการใช้แก๊สน้ำตากับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติตามแผนกรกฏ 48 โดยไม่ต้องรอฟังคำสั่งจากฝ่ายการเมืองอยู่แล้ว นอกจากนั้นพยานหลักฐานที่ตนเองได้ยื่นไว้จำนวนถึง 50 รายกลับได้รับการพิจารณาเพียง 5 รายโดยส่วนใหญ่เป็นพยานของฝ่ายตรงข้ามทั้งสิ้น ตนจึงยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการพิจารณาของ ป.ป.ช. แม้แต่อัยการสูงสุดก็ยังชี้ข้อไม่สมบูรณ์ของ ป.ป.ช.ที่ ป.ป.ช.เองก็ยอมรับ
ด้านนายประสพสุข ได้แจ้งที่ต่อประชุมว่า การนัดประชุมวุฒิสภานัดพิเศษในวันที่ 26 ก.พ.นี้ เวลา 10.00 น.เพื่อให้คณะกรรมการซักถามของวุฒิสภา ได้ซักถามข้อสงสัยเพิ่มเติมจากคู่กรณี ส่วนกรณีกระบวนการถอดถอนนายนพดล ปัทมะ ออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศนั้น หากสมาชิกต้องการเสนอญัตติเพื่อกำหนดประเด็นซักถามสามารถยื่นญัตติได้จนถึงวันที่ 1 มี.ค.นี้ก่อนที่จะเปิดประชุมเพื่อให้คู่กรณีแถลงเปิดสำนวนในวันที่ 2 มี.ค.เวลา 10.00 น.ต่อไป