นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะใช้กลุ่มรถแท็กซี่ไปปิดล้อมศาลฎีกาในวันที่ 26 ก.พ.ว่า เราก็เตรียมการป้องกันไว้แล้ว ใครทำผิดกฎหมายก็จะดำเนินคดี ขอให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด และมาตรการต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ เชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือกับเหตุการณ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประชาชนให้ความร่วมมือและแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการก่อการรุนแรงอย่างนี้ ก็จะทำให้รัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาได้ง่ายขึ้น ส่วนกำลังเจ้าหน้าที่ที่จะใช้ตามความจำเป็น
ส่วนกรณีกลุ่มชาวนาที่ไม่พอใจโครงการประกันราคาข้าวจะมาร่วมชุมนุมในวันที่ 26 ก.พ.นั้น รัฐบาลได้ดูแลรายได้ของชาวนาได้อย่างดีเป็นพิเศษ ทุกคนได้รับการดูแลจากรัฐบาลโดยทั่วถึง และวิธีการที่รัฐบาลได้นำมาใช้ก็เป็นวิธีการที่ถือว่าดีที่สุดเท่าที่เคยทำมา ดังนั้น ก็ไม่ควรจะเข้ามาชุมนุม หรือมามีปัญหาในช่วงนี้ คนของรัฐบาลในฝ่ายเศรษฐกิจพร้อมที่จะเดินทางไปพบประชาชนในพื้นที่ทุกเวลา และหากมีอะไรที่ไม่เข้าใจ รัฐบาลก็ขอให้เลือกใช้จังหวะเวลาอื่น เพราะขณะนี้กำลังชุลมุนกันอยู่ อย่าได้ทำอะไรที่จะทำให้ถูกมองว่าเป็นการผสมโรงด้วย
นายสุเทพ กล่าวว่า รัฐบาลจะไม่ขัดขวางการรวมตัวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่จะเคลื่อนไหวเข้ามาชุมนุมใหญ่ในกทม.วันที่ 12-14 มี.ค.นี้ โดยจะเตรียมมาตรการพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น แต่ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายพิเศษออกมาดูแลสถานการณ์
ทั้งนี้ การชุมนุมประท้วงทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต้องการกดดันให้รัฐบาลยุบสภานั้น ขอให้เป็นอีกเรื่องหนึ่งกับคดียึดทรัพย์ หากเป็นไปอย่างนี้บ้านเมืองก็ไม่มีปัญหาอะไร และยังไม่จำเป็นต้องประกาศกฎหมายพิเศษ เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หากไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่บุกรุกหรือทำลายสถานที่ราชการ ไม่ขัดขวางการดำเนินชีวิตตามปกติของประชาชน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าไม่ฝ่าฝืนกฎหมายก็สามารถชุมนุมได้ไม่ว่า จะชุมนุมกี่วันก็ได้ รัฐบาลจะไม่ไปขัดขวางอะไรทั้งสิ้น
"แต่หากเมื่อใดเห็นว่ากลุ่มคนที่มาชุมนุมมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายและจะทำให้เกิดความเสียหายให้กับประเทศชาติและประชาชนก็จำเป็นต้องใช้กฎหมายที่มีอยู่เป็นการเฉพาะ" นายสุเทพ กล่าว
สำหรับการตัดสินคดีในวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ เนื่องจากไม่เคยมีการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินของนักการเมืองตั้ง 70,000 กว่าล้านบาท ที่แล้วมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เคยพิพากษายึดทรัพย์ข้าราชการ นักการเมือง เพียงแค่ 100-200ล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้นประชาชนจะได้ศึกษาจากคำพิพากษาว่า มีเหตุผลข้อกฎหมายอย่างไรที่ทำให้ศาลฎีกาได้พิพากษาอย่างนั้น เมื่อฟังคำพิพากษาแล้วทุกคนก็ควรยอมรับคำพิพากษา เพราะอำนาจตุลาการเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ถ้าทุกคนยอมรับในอำนาจอธิปไตยนี้ บ้านเมืองก็สงบเรียบร้อย