ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จัดห้องประชุมลับสุดยอดให้กับองค์คณะผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะหารือร่วมกันทั้ง 9 คน เพื่อลงมติคำพิพากษากลางในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ จนกว่าจะตกผลึกผลตัดสินคดี โดยจะไม่อนุญาตให้บุคคลใดเข้าหรือออกจากห้องอย่างเด็ดขาด ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังคุมเข้ม
"ผู้พิพากษาแต่ละท่านจะมีคำพิพากษาส่วนตนแล้วมาประชุมร่วมกันเพื่อหาคำพิพากษากลางวันพรุ่งนี้เลย ไม่มีการทำ(คำพิพากษา)ไว้ก่อนล่วงหน้า และระหว่างการประชุมจะไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปในห้องประชุม อย่างเรื่องจัดอาหารก็จัดเตรียมไว้ตั้งแต่เช้าแล้ว ต้องเป็นความลับที่สุด" เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ กล่าว
อนึ่ง ตามหลักปฏิบัติการอ่านคำพิพากษาจะยึดหลักอาวุโส เริ่มจากตุลาการผู้อาวุโสที่สุดในคณะ คือ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา ตามด้วยรองประธานศาลฎีกา ประธานแผนกคดีในศาลฎีกาและผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาโดยระหว่างที่ตุลาการแต่ละคนอ่านความเห็นในการวินิจฉัยคดี จะมีการจดบันทึกประเด็นความเห็นของทุกคนในการวินิจฉัยคดีตามสำนวนฟ้องของอัยการ
เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาฯ เปิดเผยว่า การประชุมจะมีขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า จนกระทั่งสามารถจัดทำคำพิพากษากลางเสร็จเรียบร้อยแล้ว องค์คณะผู้พิพากษาจะไม่ออกไปนอกห้องประชุมจนกว่าจะถึงเวลาออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาพร้อมกันทั้งหมดในช่วงบ่าย ซึ่งกำหนดเบื้องต้นไว้ในเวลา 13.00 น.
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการรักษาความเรียบร้อยนั้น ในส่วนของพื้นที่โดยรอบได้มีการประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาช่วยดูแล ส่วนพื้นที่ของแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นจะใช้รูปแบบเหมือนวันที่มีการพิจารณาคดีใหญ่ที่ผ่านมา โดยมีการใช้แผงกั้นกำหนดพื้นที่เฉพาะ
ส่วนการเผยแพร่การผ่านการอ่านคำพิพากษานั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาขององค์คณะผู้พิพากษาว่าจะให้ถ่ายทอดสดหรือถ่ายทอดเฉพาะเสียงอย่างเดียว
แหล่งข่าวจากศาลฎีกาฯ กล่าวถึงกระแสข่าวที่มีการคาดการณ์ถึงการเลื่อนนัดอ่านคำพิพากษาเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นจำเลยคนสำคัญไม่ได้เดินทางมารับฟังคำพิพากษาด้วยตัวเองว่า การเลื่อนนัดต้องเป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งองค์คณะผู้พิพากษาจะเป็นผู้พิจารณา และในคดีนี้เป็นความแพ่งที่ผู้ถูกฟ้องไม่ต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยตัวเองก็ได้
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย ผบก.ประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.)ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยว่า บช.น.ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าบริเวณศาลฎีกา โดยจะมี บก.น.1 ดูแล พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ วางกำลังตำรวจไว้ 1 กองร้อย
บช.น.ได้ปรับระดับ ศปก.นครบาล เตรียมพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งในวันตัดสินยึดทรัพย์ได้เพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปจ.เป็น 3 กองร้อย ให้ชุด "ปะ ฉะ ดะ" เข้าพื้นที่ และชุดจู่โจม 2-9 เตรียมความพร้อมเอาไว้ ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จร.50 นาย ดูแล พร้อมกับเตรียมรถยก รถสายตรวจ และรถนำขบวนกรณีมีเหตุฉุกเฉิน
ส่วนการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณรอบศาลฎีกานั้น เริ่มต้นใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปจ.จำนวน 1 กองร้อย ให้ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดตรวจก่อนมอบพื้นที่ โดยมีชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดปฏิบัติงาน 2 ชุด ประจำที่ ศปก.ส่วนหน้าบริเวณศาลตลอดเวลา ร่วมกับฝ่ายสืบสวน 50 นาย เจ้าหน้าที่จราจร และพนักงานสอบสวนอีกจำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผบช.น.สั่งการให้ทุก บก.พร้อมสนับสนุน 10 กองร้อย ภายใน 1 ชั่งโมงครึ่ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปจ.หญิง 100 นาย คอยสนับสนุนได้ทันที จัดเตรียมกำลังจุดจู่โจม บก.1-9 ทั้งหมด 9 หมวดๆ ละ 33 นาย เตรียมพร้อมตลอดเวลา
ทั้งนี้หลังจากประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านการข่าวแล้วคาดว่าจะมีมวลชนเพียงบางส่วนมาฟังคำพิพากษา เพราะมีการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุไปทั่วประเทศ และกลุ่มแดงสยามราว 2-3 พันคนมาชุมนุมบริเวณสนามหลวง ตั้งแต่เวลา 18.00-24.00 น.
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิดของ กทม.และมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเพิ่มกล้องรอบศาลฎีกาไม่ต่ำกว่า 20 จุด โดยมีการตรวจสอบสภาพของกล้อง ซึ่งขณะนี้สามารถบันทึกเพื่อเป็นหลักฐานกรณีมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย โดยจุดเสี่ยงที่สามารถยิงอาวุธวิถีตรงและโค้ง ทางฝ่ายสืบสวน และ บก.สส. ได้ลงพื้นที่เรียบร้อยแล้ว และที่บริเวณศาลฎีกาจะมีการติดตั้งเครื่องตรวจอาวุธ 2 จุด และมีเครื่องตรวจอาวุธแบบมือด้วย