พณ.เผยปี 52 ไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้ GSP เป็นแต้มต่อฝ่าวิกฤติส่งออก

ข่าวการเมือง Friday February 26, 2010 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ(คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 52 ผู้ส่งออกไทยมีการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 41.49% ในปี 51 มาเป็น 54.38% ในปี 52 โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด 10,672.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 15.72% เมื่อเทียบกับมูลค่า 12,662.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 51 ทั้งนี้เป็นผลจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าโดยรวมของไทย

ไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) จาก 44 ประเทศ ประกอบด้วย สหภาพยุโรป (27 ประเทศ), สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, สวิตเซอร์แลนด์, แคนาดา, ตุรกี, กลุ่ม CIS (รัสเซียและรัฐอิสระที่แยกออกจากสหภาพโซเวียดรัสเซีย รวม 11 ประเทศ) และนอร์เวย์

โดยประเทศที่ไทยใช้สิทธิ GSP สูงสุด คือ สหภาพยุโรป 6,654.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ สหรัฐฯ 2,886.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ตุรกี 359.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, สวิตเซอร์แลนด์ 241.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, แคนาดา 205.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, กลุ่ม CIS 140.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น 91.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนอร์เวย์ 53.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ เครื่องประดับทำจากเงิน, เลนส์แว่นตา, ยางเรเดียลรถยนต์นั่ง, น้ำมันปิโตรเลียมดิบ, ยานยนต์ขนส่ง, ถุงมือยาง, เครื่องปรับอากาศ, กุ้งปรุงแต่ง, กุ้งแช่แข็ง, กรดเทเรฟทาลิก, สับปะรดกระป๋อง, ยางเรเดียลรถบรรทุก, รองเท้ากีฬา และรองเท้าไม่หุ้มข้อ เป็นต้น

หากพิจารณาการใช้สิทธิ GSP ใน 2 ตลาดหลักของไทย พบว่า ตลาดสหภาพยุโรปใช้สิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วน 58.85% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP โดยมีมูลค่าลดลงจากปีก่อนหน้า 958 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่ใช้สิทธิสูง ได้แก่ เลนส์แว่นตา, น้ำมันปิโตรเลียมดิบ, ยานยนต์สำหรับขนส่ง, เครื่องปรับอากาศ, กุ้งปรุงแต่ง ถุงมือยาง เป็นต้น ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ ไทยใช้สิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วน 48.91% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP โดยมีมูลค่าลดลงจากปีก่อนหน้า 647 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จากสถานการณ์การใช้สิทธิ GSP สหรัฐฯ ปี 52 ไทยมีสินค้าจำนวน 2 รายการที่มีมูลค่านำเข้าสหรัฐฯ เกินระดับเพดาน CNL ที่สหรัฐฯ กำหนด ได้แก่ สินค้ายางเรเดียลรถยนต์นั่ง มีมูลค่านำเข้าในสหรัฐฯ 154.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเครื่องประดับทำจากโลหะเงิน ซึ่งไทยได้รับผ่อนผัน CNL Waiver มาแล้ว 5 ปี (407.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)

กรมการค้าต่างประเทศจะได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันไม่ให้ระงับสิทธิ GSP 1)กรณี De Minimis Waiver 2) ขอคืนสิทธิกรณี Redesignation 3) ยื่นคำร้องไม่ให้ระงับสิทธิ GSP สินค้าเครื่องประดับเงิน (CNL Waiver) ซึ่งสหรัฐฯ จะประกาศประมาณเดือนก.พ.53 และกำหนดรับคำร้องประมาณเดือนมี.ค.53


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ