นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 273 ในกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 กรณีสั่งสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาและบริเวณโดยรอบเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51
ทั้งนี้เป็นการพิจารณาประเด็นซักถามตามญัตติของส.ว. 17 ญัตติ รวม 117 คำถาม แบ่งเป็นถามผู้กล่าวหา 46 คำถาม ผู้ถูกกกล่าวหา 60 คำถาม และคู่กรณี 11 คำถาม โดยมีคณะกรรมการซักถามเป็นตัวแทน ส.ว.ซักถาม ซึ่งคำถามส่วนใหญ่ที่ถามต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้กล่าวหา เป็นการถามถึงเหตุผลในการที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูล
นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ยืนยันถึงอำนาจการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญและพิจารณาตามข้อเท็จจริง โดยระบุว่าแม้การชุมนุมหน้ารัฐสภาในวันดังกล่าวจะเป็นการชุมนุมโดยมิชอบ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความจำเป็นและเป็นไปตามหลักสากล ไม่ใช่ปฏิบัติหน้าที่ตามอำเภอใจ ดังนั้นจึงถือว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ซึ่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้กำกับดูแลสูงสุดจึงต้องรับผิดชอบ
ส่วนประเด็นการซักถามนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้ถูกกล่าวหา มีจำนวน 60 คำถาม ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการสั่งสลายการชุมนุมในวันดังกล่าว ทั้งที่ทราบว่าเกิดเหตุการณ์ขึ้นแต่กลับไม่มีการสั่งห้าม รวมถึงการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ การไม่มีขั้นตอนที่เป็นเป็นหลักสากล การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีที่ไม่ยอมย้ายที่ประชุมสภาฯ ในการแถลงนโยบายรัฐบาล
นายสมชาย ชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และการสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตน ส่วนกรณีที่ไม่มีการสั่งย้ายสถานที่การแถลงนโยบายรัฐบาล รวมถึงการเลื่อนการประชุมไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี อีกทั้งไม่เคยมีคำสั่งว่าต้องให้เข้าประชุมที่รัฐสภาเท่านั้น ส่วนการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ตำรวจจำเป็นต้องดำเนินการเพราะสภาพการณ์ชุมนุมที่รุนแรงขึ้นและเริ่มค่ำ รวมถึงมีบุคคลติดอยู่ในรัฐสภาเป็นจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมซักถามคู่กรณีเสร็จสิ้นโดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง นายประสพสุข แจ้งว่า ทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา ขอยื่นคำแถลงปิดสำนวนคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะต้องส่งมาภายในวันที่ 4 มี.ค. และขอนัดประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติถอดถอนในวันที่ 9 มีนาคม เวลา 10.00 น.
ทั้งนี้ก่อนปิดประชุม นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ยังได้หารือขอให้ส.ว. ทุกคนมาประชุมในวันดังกล่าวให้ครบ 150 คน เพราะเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีการใช้รัฐธรรมนูญในการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง และขอให้ประธานวุฒิสภาสั่งระงับกิจกรรมทุกอย่างของส.ว. เช่น การเดินทางไปต่างจังหวัด การเดินทางไปต่างประเทศ การสัมมนา ที่มีบางคณะกรรมาธิการและบางคณะอนุกรรมาธิการจะดำเนินการ เพราะการถอดถอนจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 หรือ 90 เสียงขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อให้ ส.ว.ได้เข้าประชุมและลงมติกันอย่างพร้อมเพรียง