ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตภริยา ยังครอบครองหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น(SHIN) จำนวนกว่า 1 พันล้านหุ้น ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งสองวาระ แม้ว่าจะมีโอนหุ้น ซื้อขายหุ้น หรือ ทำธุรกรรมใด ๆ ระหว่างนั้นก็ตาม
นอกจากนั้น ศาลฯ ยังมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจในขณะเป็นนายกรัฐมนตรีในการตราพระราชกำหนด 2 ฉบับ รวมทั้งออกประกาศกระทรวงการคลัง และมติคณะรัฐมนตรี ในการให้นำภาษีสรรพสามิตไปหักออกจากค่าสัมปทาน ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC)ซึ่งมี SHIN เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
กรณีดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อสถานะและความมั่นคงต่อ ทศท.อย่างรุนแรง และเกิดความไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหม่ เพราะมีต้นทุนสูงกว่า ขณะที่ฐานลูกค้าต่ำกว่า ส่งผลให้ธุรกิจรายใหม่เผชิญข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดและการพัฒนาระบบเครือข่าย
และ ศาลฯ ได้มีมติเสียงข้างมากว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีการปรับลดส่วนแบ่งรายได้กรณีบริการแบบบัตรเติมเงิน (พรีเพด)เหลือ 20% จากเดิมที่ต้องจ่ายแบบอัตราก้าวหน้า เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อ ADVANC
รวมทั้งการแก้ไขสัญญาเพื่อให้ ADVANC ใช้เครือข่ายร่วม(โรมมิ่ง)ร่วม กับ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี)ที่ไม่ชอบด้วยสัญญาหลัก ทำให้บริษัทไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการลงทุนเอง ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือหุ้นใหญ่ใน SHIN และดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในการกำกับดูแล ถือว่าเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและได้ประโยชน์จากกรณีดังกล่าว
ส่วนการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมให้กับบริษัท ดีพีซี นั้น ศาลฯ ระบุว่า เสียงข้างมากเห็นว่าผลประโยชน์จากกรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ
ศาลฯ ยังมีมติเสียงข้างมากว่า การอนุมัติให้บริษัทในเครือ SHIN สามารถยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ภายใต้สัมปทานดาวเทียมไทยคม รวมทั้งมีการขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นการลัดขั้นตอนอย่างผิดปกติ ขัดกับสัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสารในประเทศ และทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์กับเครือ SHIN เสมือนกับได้รับสัมปทานดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศโดยไม่ต้องมีการเปิดประมูลสัมปทานใหม่
ขณะที่การแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมให้แก่ไทยคม เพื่อลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของ SHIN ในไทยคม ตามคำร้องขอของบริษัทเป็นการกระทำที่มิชอบ เพราะเป็นการแก้ไขในสาระสำคัญในสัญญาสัมปทาน และเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัททั้งสอง เนื่องจากทาง SHIN ไม่ต้องหาเงินมาลงทุนเพิ่มในไทยคม เพื่อรักษาสัดส่วนหุ้นเดิม
ประเด็นที่รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำเนินการเพื่อให้มีการอนุมัติเงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK)อัตราดอกเบี้ยต่ำนั้น ศาลฯ มีมติเสียงข้างมากเห็นว่าเป็นการเอื้อต่อไทยคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีการนำเงินไปซื้ออุปกรณ์ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมจากไทยคม ส่วนการอ้างว่าเป็นการแลกกับสัมปทานสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในประเทศพม่าให้กับเครือปตท.นั้นเป็นข้ออ้างที่ไม่เกี่ยวข้องกัน