พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาและอุปสรรคในการใช้เรือเหาะตรวจการณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชิญ พล.ต.วุทธิ์ วิมุกตะลพ เจ้ากรมการขนส่งทหาร เข้าชี้แจงแทน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.
พ.ต.ท.สมชาย ระบุว่า กรรมาธิการฯ มีความเป็นห่วงเรื่องนี้ เพราะใช้งบประมาณในการจัดซื้อถึง 350 ล้านบาท และเกรงว่าจะไม่มีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับงบประมาณเหมือนกรณีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที200 อีกทั้งประเทศที่มีปัญหาเรื่องก่อการร้าย เช่น สหรัฐอเมริกา, อิสราเอล ตลอดจนประเภทในภูมิภาคนี้ยังไม่มีการใช้ ดังนั้นจึงเกรงว่าประเทศไทยจะกลายเป็นหนูทดลอง
"สภาพอากาศในพื้นที่ภาคใต้ที่มีฝนตกถึง 8 เดือน ไม่มีความเหมาะสมต่อการจับภาพด้านล่าง ขณะที่การรับประกันจะเริ่มนับจากวันไหน และบริษัทผู้ขายมีความชัดเจนเรื่องนี้อย่างไร หากไม่ประสิทธิภาพการใช้ไม่คุ้มค่า" ประธานคณะกรรมการทหาร กล่าว
ด้าน พล.ต.วุทธิ์ ชี้แจงว่า ขั้นตอนการใช้เรือเหาะอยู่ระหว่างการเชื่อมสัญญาณระหว่างภาคพื้นดิน ซึ่งขณะนี้จอดอยู่ที่ จ.ปัตตานี และกำลังฝึกหัดนักบินแต่ยังไม่มีการนำขึ้นใช้ เพราะระบบทุกอย่างยังไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ดี เรือเหาะดังกล่าวจะต้องใช้ประกอบกับรถยนต์ และเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งเรือเหาะจะส่งสัญญาณภาพเป็นอินฟาเรดสู่ห้องควบคุม 20 จุด รวมถึง กทม.เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งการได้โดยตรง
ส่วนข้อกังวลที่เรือเหาะลอยขณะตรวจการณ์อาจอยู่ในวิสัยที่จะถูกยิงตกได้นั้น ยืนยันว่า เรือเหาะจะต้องลอยสูงจากพื้นดิน 3,000-10,000 ฟิตขึ้นไป ดังนั้นจึงไม่สามารถถูกยิงตกได้
พ.ต.ท.สมชาย ตั้งข้อสังเกตถึงการใช้งบประมาณว่าแม้จะมีการจ่ายเงินไปแล้วกว่า 70% แต่กลับไม่มีการตรวจสอบคุณภาพ และที่ผ่านมาจากการทดสอบที่อู่ตะเภา ปรากฏพบว่ามีรอยรั่วอยู่บริวณหัวบอลลูนด้วย
จากนั้นเป็นการพิจาณาความคืบหน้าการจัดซื้อยานเกราะล้อยาง แบบบีทีอาร์-3อี1 จากยูเครนมูลค่ากว่า 3,898 ล้านบาท โดยเชิญ พล.ต.อุสไนท์ เฟื่องผลนุช ผู้บัญชาการศูนย์อุตสาหกรรม กรมสรรพวุธทหารบก ชี้แจงแทน ผบ.ทบ. และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เข้าชี้แจง
ด้าน พล.ต.อุสไนท์ ชี้แจงว่า การจัดซื้อยานเกราะเป็นการจัดซื้อระหว่างรัฐต่อรัฐกับประเทศยูเครน เซ็นสัญญาเมื่อ 30 ก.ค.51 กำหนดส่งล็อตแรกภายใน 240 วัน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการจัดส่ง เนื่องจากยูเครนจำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์จากเยอรมัน แต่เยอรมันไม่นำส่งเครื่องยนต์ให้โดยอ้างว่ากองทัพไทยอาจนำไปใช้ในพื้นที่ภาคใต้ และไทยเป็นประเทศที่ทำปฏิวัติรัฐประหาร แต่หลังจากชี้แจงปัญหาแล้วเยอรมันรับปากจะเปลี่ยนเครื่องยนต์ที่ประสิทธิภาพดีกว่ามาให้ ซึ่งคณะกรรมการของกองทัพตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเครื่องที่ดีกว่าจริง และไม่มีการอัพเกรดเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์
ด้านนายพิศิษฐ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนเครื่องยนต์ของกองทัพ ถือว่าเข้าข่ายการเปลี่ยนแปลงสาระคัญของสัญญา ซึ่งสตง.จะตรวจสอบต่อไปว่า กรณีการเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์มีผู้ที่มีอำนาจในขณะนี้เป็นผู้อนุมัติหรือไม่ รวมทั้ง สตง.จะไปตรวจสอบเครื่องยนต์ ด้วย เพราะเบื้องต้นพบว่าบริษัทที่ยูเครนเป็นบริษัทอัพเกรดไม่ใช่บริษัทผู้ผลิต ดังนั้นจึงเกรงว่าจะมีการดัดแปลงเครื่องยนต์จากประเทศรัสเซียแล้วนำมาขาย ซึ่งประเทศไทยอาจถูกหลอกได้
นายสมชาย กล่าวว่า จากการชี้แจงของสตง.ดูเหมือนว่าอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์กับประเทศยูเครน และเข้าข่ายการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากตอนแรกทางกองทัพกำหนดทีโออาร์ว่าต้องใช่เครื่องยนต์ดอยช์ ทำให้หลายบริษัทตกคุณสมบัติ แต่ตอนหลังกลับมาเปลี่ยนแปลงสเปคเครื่องยนต์ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องยนต์ที่เสนอมาใหม่เป็นเครื่องยนต์เรือรบที่มีราคาถูกกว่า ดังนั้นเหตุใดกองทัพจึงไม่ต่อรองราคา
อย่างไรก็ดี กรรมาธิการทหารจะยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิจ(สตง.) เข้าไปตรวจสอบหาผู้กระทำผิด และเชิญมาชี้แจงด้วย รวมถึงจะติดตามงบของอาสารักษาดินแดน(อส.) ของกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะการสั่งซื้อชุดเกราะที่ใช้ในภาคใต้ ซึ่งส่อว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น