40 ส.ว.ยื่นจี้ป.ป.ช.เร่งสอบคดี"ทักษิณ" ขยายผลต่อ พร้อมตั้ง 2 กมธ.สอบคู่

ข่าวการเมือง Thursday March 4, 2010 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. และนายวิรัช พานิชย์พงษ์ ส.ว.สรรหา เดินทางมาที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเข้ายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมทั้งทำความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งกรณี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีนายอภินันท์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับเรื่อง

นายสมชาย กล่าวว่า ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำวินิจฉัยคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณกว่า 46,000 ล้านบาท ซึ่งตนเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ซึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 263 รวมทั้งเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตรามประมวลกฎหมายอาญา หรือตามกฎหมายอื่นหรือทุจริตต่อหน้าที่ มีความผิดตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เพื่อให้มีการไต่สวนการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำความผิดในกรณีดังกล่าวหรือไม่ จึงขอยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการไต่สวน โดยให้ความสำคัญเป็นเรื่องเร่งด่วน อย่างไรก็ตามเพื่อให้ความสำคัญและเกิดความเป็นธรรมกับคู่กรณี และเพื่อสรุปเรื่องเสนอไปยังศาลฎีกาฯ วินิจฉัยโดยเร็ว

"การยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ก็เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดแก่สังคม อย่างไรก็ตามในส่วนของวุฒิสภา คณะกรรมธิการอย่างน้อย 2 คณะ คือ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ร่วมกันทำงานเพื่อดำเนินการตรวจสอบควบคู่ด้วย โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 60 วันน่าจะสรุปเรื่องทั้งหมดได้"นายสมชายกล่าว

ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า สาเหตุที่วุฒิสภาต้องดำเนินการตรวจสอบ เนื่องจากคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ พาดพิงและมีนักการเมือง ข้าราชการ เกี่ยวพันหลายกรณี จึงเห็นว่าควรขยายต่อในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการขยายผลตรวจสอบคดีต่อเนื่องอีกจำนวน 4 คดี ที่ยังค้างอยู่ชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. อาทิ การแจ้งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ การแก้ไขสัญญาโทรศัพท์เติมเงินล่วงหน้า หรือพรี-เพด (Pre-paid) การแก้ไขสัญญาดาวเทียมไอพีสตาร์ ที่ทำให้หน่วยงานรัฐได้รับความเสียหาย

อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ทาง ส.ว. นำมายื่นต่อ ป.ป.ช. ประกอบด้วยคำถอดเทปเบื้องต้นของศาลฎีกา และประเด็นข้อร้องเรียนเพื่อขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ อย่างไรก็ตามหลักฐานที่วุฒิสภามีคือพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ แจ้งบัญชีทรัพย์สิน 500 ล้าน และแจ้งบัญชีทรัพย์สินของภรรยา 8 พันล้าน และปี 2548-2550 ตัวเลขบัญชีทรัพย์สินไม่เปลี่ยนแปลง และศาลฏีกาพบว่ามีการซุกซ่อนทรัพย์สินหลายส่วน รวมทั้งเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการคอรัปชั่นเชิงนโยบายและมีการแจ้งทรัพย์สินเป็นเท็จ

น.ส.รสนา กล่าวว่า การรุกตรวจสอบ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่ามองว่าเป็นเหมือนการรุมกินโต๊ะ เพราะเรื่องทุกอย่างต้องดำเนินการตามหลักฐาน อีกทั้งวุฒิสภาก็มีความเป็นอิสระ ตรวจสอบทุกเรื่องตามข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม อยากขอฝากไปยังข้าราชการ หากมีข้อมูลการทุจริตขอให้ส่งข้อมูลให้ ส.ว.ดำเนินการด้วย เพราะกรณีการทุจริตยาของกระทรวงสาธารณสุขที่ตนพบพิรุธนั้นก็เป็นเพราะข้าราชการส่งข้อมูลมาให้

"วันนี้น่าเป็นห่วง เพราะการคอรัปชั่นพัฒนาตัวเองไปมาก จากเดิมที่เป็นแค่การติดสินบน แต่ปัจจุบันพัฒนากลายเป็นการทุจริตคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ใช้อำนาจเพื่อออกกฎหมายให้เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง ดังนั้นต้องสนใจเรื่องการทุจริตมากกว่าเห็นเป็นเรื่องทางการเมือง และการดำเนินการเรื่องนี้ก็เพื่อสกัดกั้นนักการเมือง ที่จะเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์" น.ส.รสนากล่าว

ขณะที่นายประสาร มฤคพิทักษ์ กล่าวเสริมว่า อยากเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ อาทิ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายออกมาดำเนินการเรียกร้องความเสียหาย โดยทำหน้าที่ตัวเองอย่างเข้มข้น เพราะการตัดสินของศาลฎีกาฯ ถือเป็นเพียงการเริ่มต้น หน่วยงานต่างๆ จึงต้องดำเนินการขยายผลต่อด้วย ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการอาจจะเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ