วอร์รูม ปชป.ชี้ 5 สัญญาณ ชุมนุม นปช.อาจนำไปสู่ความวุ่นวาย

ข่าวการเมือง Friday March 5, 2010 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการและปฏิบัติการทางเมือง (วอร์รูม) ของพรรคมีความกังวลยุทธวิธีของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ในการก่อความวุ่นวายและทำลายความเชื่อมั่นที่มีรูปธรรมที่เป็นสัญญาณว่าอาจเกิดความวุ่นวายได้ 5 สัญญาณ

สัญญาณดังกล่าว ได้แก่ การเผยแพร่โดยใช้เครือข่ายสื่อ ทั้ง ดีสเตชั่น วิทยุชุมชน มีใบปลิว จัดทำคู่มือ สิ่งพิมพ์ เผยแพร่ผ่านเว็ปทั้งในและนอกประเทศ เปลี่ยนแนวทางจากการให้ความรู้โดยการปฏิบัติทางทางจิตวิทยา มาเป็นการบิดเบือนความจริงที่ปลุกระดมและเรียกร้องให้มีการลุกขึ้นสู้และอาจจะถูกตีความและอาจนำไปสู่ความวุ่นวายได้

ขณะที่แนวร่วมทางด้านความมั่นคงส่งสัญญาณว่าจะเกิดสงครามทางการเมือง สงครามประชาชน การก่อวินาศกรรมชัดเจน เช่น "เคทอง" และอาจมีกลุ่มอื่นๆ อีก ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการตามกฎหมายและออกหมายจับ ,

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มแดงสยามมีความเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เปิดรับระบอบประชาธิไตยที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีการกล่าวเปรียบเทียบประเทศเนปาล มีการระบุว่านายจักรภพ เพ็ญแข จะมาเป็นประธานกลุ่ม และจะเคลื่อนไหวในเวทีต่างประเทศ และระบุชัดว่าจะนำไปสู่การขับเคลื่อนใต้ดินได้ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่นายจักรภพเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้

การเคลื่อนไหวของโรงเรียน นปช. ตลอดเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา ที่มีการฝึกการก่อวินาศกรรม เช่น มีการเตรียมถังแก๊ส ขวดน้ำมัน ผ้าขี้ริ้ว ในลักษณะที่จะก่อเหตุความวุ่นวายนำไปสู่การจลาจล และ สัญญาณจากประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทยเอง

"ในวันนี้อยากให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งขอเรียกร้องให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบทุกความเคลื่อนไหวว่าการเคลื่อนไหวหากเป็นไปตามลักษณะที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย หรือสร้างความเดือดร้อนแล้ว การกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำไปเพื่อใคร เป็นคำถามที่ผู้เคลื่อนไหวต้องตอบให้แก่สังคมได้" นพ.บุรณัชย์ กล่าว

ส่วนยุทธวิธีที่ทำลายความเชื่อมั่น ขณะนี้มี 3 แนวทางที่เป็นรูปธรรม คือ การเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณเองที่จะร่างหนังสือไปถึงผู้นำประเทศต่างๆในลักษณะที่พาดพิงกระบวนการยุติธรรม และทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันศาล , การเคลื่อนไหวเพื่อถอดถอนตุลาการกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้าข่ายลักษณะของการกดดันหลังจากที่มีการคุกคาม และการปลุกระดม โดยอ้างว่ากระบวนการถวายฎีกาถูกขัดขวางเพื่อที่จะนำไปสู่การกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อสถาบันที่เกี่ยวข้อง

โฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า เห็นชัดว่า การปะทุ 3 ยุทธศาสตร์มีจุดประสงค์คือไม่ให้คดียึดทรัพย์ถูกบังคับได้ ไม่ให้ความผิดจากคดีอาญาที่ตามมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และล้มรัฐบาลโดยใช้การปฏิวัติประชาชนผ่านการชุมนุมนั้น เป็นเป้าหมายที่ไม่สามารถบรรลุได้ด้วยวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยหรือวิถีทางกฎหมาย จึงมีการสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการสร้างเงื่อนไขให้นำไปสู่ความวุ่นวาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ