"กรณ์"เผยยังไม่มีแผนสั่งสาขาแบงก์บริเวณจุดชุมนุมปิดทำการ 12 มี.ค.

ข่าวการเมือง Monday March 8, 2010 17:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งจากสถานการณ์ในขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีแผนจะสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีสาขาต่างๆ อยู่บริเวณจุดนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงปิดทำการในวันที่ 12 มี.ค.นี้ แต่ให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของธนาคารแต่ละสาขา

"สถาบันการเงินต่างๆ ยังไม่มีคำสั่ง หรือนโยบายให้ปิดทำการ จะมีการประเมินสถานการณ์เพื่อรักษาความปลอดภัยทรัพย์สิน และพนักงาน สำหรับธนาคารที่อยู่ในพื้นที่ความเสี่ยง เป็นวิจารณญาณของสถาบันการเงินเหล่านั้นเอง...ไม่มีการสั่งปิดแบงก์ในกรุงเทพ" นายกรณ์ กล่าว

พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ประชาชนจะต้องถอนเงินสดมาเก็บไว้ ซึ่งทุกธนาคารยังมีเงินสำรองเพียงพอที่จะให้ประชาชนเบิกถอนได้ตามปกติ แต่หากสาขาใดอยู่ในพื้นที่ที่มีการชุมนุม ประชาชนก็สามารถเปลี่ยนไปใช้แบงก์สาขาอื่นได้แทน

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า ตราบใดที่การชุมนุมไม่มีความรุนแรงก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้น และจะทำให้นักลงทุนเกิดความสบายใจ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ตลาดหุ้นอยู่ในทิศทางที่เป็นบวกได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย พร้อมเชื่อว่านักลงทุนไทยมีความเข้าใจต่อสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี หากมีเหตุความวุ่นวายหอรืเกิดการเสียเลือดเนื้อขึ้น จะกระทบต่อภาพรวมในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น ด้านการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว หรือแม้แต่กำลังซื้อของประชาชน

สำหรับผลของการชุมนุมที่อาจจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของประเทศนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า ในขณะนี้ยังประเมินได้ยาก แต่ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยขณะนี้อยู่ในช่วงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องบริหารประเทศให้ดีไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นก็ตาม

ส่วนความกังวลว่าการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อพบปะกับนักลงทุนของญี่ปุ่นและใช้โอกาสนี้ชี้แจงทำความเข้าใจถึงปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตลอดจนกฎเกณฑ์ด้านศุลกากรต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนญี่ปุ่นเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสถานการณ์การเข้ามาลงทุนในประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ