นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นแน่นอน เพราะไม่ได้คิดว่าจะบริหารงานจนครบเทอม แต่ขณะนี้ยังมองไม่เห็นว่าการยุบสภาจะนำไปสู่ทางออกวิกฤติได้ และหากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดกติกาการเลือกตั้งที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก็เชื่อว่าการยุบสภาคงจะเป็นไปได้ยาก
"อย่างที่ผมเรียน เลวร้ายที่สุดสำหรับคนที่ไม่ชอบรัฐบาลนี้เลย ปีหน้า(54)ก็ต้องเลือกตั้งอยู่แล้ว ผมไม่คิดหรอกว่าจะอยู่ครบเทอม...ผมย้ำอีกครั้งถ้ายุบสภาแล้วแก้ปัญหาได้ มาคุยกันว่าจะแก้กันอย่างไร ถ้ายุบสภาแล้วยังปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชัง ไม่ใช่คำตอบ ความแตกแยกยังไม่จบ"นายอภิสิทธิ์ กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์เช้าวันนี้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พร้อมจะพูดคุยเพื่อหาทางออกถึงปัญหาบ้านเมือง โดยจะขอรอดูท่าทีของแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ที่จะเจรจากับรัฐบาลก่อน แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมีท่าทีไม่อยากจะให้มีการเจรจาเกิดขึ้น ดังนั้นต้องดูว่าแกนนำนปช.จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร "ผมจะรอดูเมื่อทางแกนนำฯ พร้อมจะพูดคุยกับผม กรรมการสิทธิฯเป็นตัวเชื่อม แต่คุณทักษิณ บอกว่าไม่เอา ผมจะรอดูว่าคุณทักษิณจะว่าอย่างไร สุดท้ายการเคลื่อนไหวจะนำไปสู่อะไร และการยุบสภาจะแก้ไขปัญหาได้จริงไหม" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี มองว่าในขณะนี้หากยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงจะเป็นเรื่องยากที่ทุกฝ่ายจะยอมรับกติการ่วมกัน เพราะหากกลับไปเลือกตั้งในขณะนี้ก็ยังคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม เป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งหากกลับไปเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่แน่ใจว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะยอมรับได้หรือไม่ จึงขอให้ทุกฝ่ายมาพูดจาตกลงกันก่อนว่าจะดำเนินการเรื่องนี้ไร
ส่วนประเด็นที่กลุ่มผู้ชุมนุมนำมาเรียกร้องเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่จริงในทุกสังคม แต่รัฐบาลพยายามจะแก้ไข และไม่อยากให้นำเงื่อนไขความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งหรือความเกลียดชังภายในสังคม และคงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขประเด็นดังกล่าวในช่วงเวลาสั้นๆ ได้
ทั้งนี้ การทำงานของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้น รัฐบาลยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางโครงการของรัฐบาลชุดก่อนที่รัฐบาลชุดนี้เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น สินค้าโอทอป และกองทุนหมู่บ้าน รัฐบาลชุดนี้ก็ยังคงสานต่อ ดังนั้นจึงไม่เข้าใจว่าที่กล่าวหาว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นระบอบอำมาตย์นั้นคืออะไรกันแน่
พร้อมยืนยันว่าการทำงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครเข้ามาแทรกแซงการทำงานของตนได้ แม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะบอกว่ารัฐบาลชุดนี้ตกอยู่ภายใต้ระบอบอำมาตย์ก็ตาม
นายกรัฐมนตรี ยังตั้งข้อสังเกตกรณีแกนนำกลุ่มนปช.ที่พยายามจะแบ่งชนชั้นระหว่างไพร่กับอำมาตย์ โดยตั้งคำถามกลับว่าอะไร เป็นตัวชี้วัดว่าบุคคลใดเป็นไพร่หรือบุคคลใดเป็นอำมาตย์ พร้อมยกตัวอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นบุคคลร่ำรวยมาก่อนว่าควรจะมองว่าเป็นไพร่หรืออำมาตย์
"จริงๆ แล้วทุกรัฐบาลพยายามจะแก้ไข แต่ไม่เคยมีรัฐบาลประเทศไหนจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ในระยะเวลาสั้นๆ การสร้างโอกาสต้องใช้เวลา คำถามคือว่ายุบสภาพรุ่งนี้ปัญหาหมดไหม ผมว่าไม่หมด คุณทักษิณที่บอกว่ายุบสภา 6 เดือนจะล้างหนี้ให้หมดนั้น ผมถามว่าอยู่ 6 ปีทำไมหนี้ไม่หมด ทำไมหนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว...ผมต้องถามว่าระบอบอำมาตย์คืออะไร อำมาตย์ที่มาแทรกแซงคือใคร ใครมาแทรกแซง ผมทำงานไม่มีใครแทรกแซง" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการทำงานของอัยการหรือศาลในการตรวจสอบคดีทั้งของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือแม้แต่คดีของกลุ่ม นปช. เพราะรัฐบาลต้องการจะเห็นทุกอย่าวเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเที่ยงธรรม โดยยอมรับว่าที่ผ่านมาอาจมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยว่าบางคดีเสร็จช้าแต่บางคดีกลับเสร็จเร็ว ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องของความรู้สึก
การดำเนินคดีต่างๆ ต้องมีลำดับขั้นตอนและใช้เวลา บางคดีมีพยานหลักฐานค่อนข้างมากจึงต้องใช้ระยะเวลาสอบสวนนาน เช่น คดีของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลและสนามบินสุวรรณภูมิที่ล่าช้า เพราะต้องสอบสวนพยานจำนวนมาก เหมือนคดีของนปช.ในเหตุการณ์เดือนเม.ย.52 และเหตุการณ์ทุบรถที่กระทรวงมหาดไทยก็ย่อมต้องใช้เวลาเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เสร็จโดยเร็วเพราะมีความซับซ้อน
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะพยายามให้การบริหารงานของรัฐบาลกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในสัปดาห์หน้า โดยยืนยันว่าจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีแน่นอน ส่วนแนวทางที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้วิธีการติดตามไปทุกที่นั้น ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ดีขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มให้ความร่วมมือในการเปิดจราจรบางเส้นทางแล้ว