สื่อจีนชี้แม้การชุมนุมสิ้นสุดลงแต่การปะทะกันระหว่างชนชั้นในสังคมไทยยังคงมีอยู่

ข่าวต่างประเทศ Friday March 19, 2010 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวซินหัวรายงานบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงทางการเมืองของไทยว่า แม้กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจะมีขนาดลดลงในวันนี้ หลังจากที่เหตุการณ์ได้ร้อนแรงจนถึงขีดสุดเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมได้เทเลือดหลายแกลลอนทั้งที่บ้านพักนายกรัฐมนตรีและทำเนียบรัฐบาลไปเมื่อวันก่อน แต่เรื่องของการปะทะกันระหว่างชนชั้นในสังคมไทยจะยังคงมีอยู่ต่อไป

กลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เรียกร้องให้มีการทำสงครามแห่งชนชั้น เพื่อบีบให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรียุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งการประท้วงครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ล่าสุดของสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศ หลังจากที่กลุ่มผู้สนับสนุนและต่อต้านอดีตนายกฯได้ห้ำหั่นกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

โดยนับตั้งแต่ที่พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามาทำหน้าที่นายกฯเมื่อปี 2544 เขาก็มุ่งมั่นที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจในประเทศที่ระดับรากหญ้าเพื่อขจัดความยากจน ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นผลดีต่อคนยากคนจนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่สร้างความรู้สึกด้านลบต่อชนชั้นกลางในกรุงเทพฯและภาคตะวันตก

ในปี 2549 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือที่รู้จักกันในกลุ่มเสื้อเหลือง ได้เริ่มประท้วงอดีตนายกฯทักษิณ โดยกลุ่มพันธมิตรฯประกอบไปด้วยชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในกรุงเทพฯและภาคตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น และในปีเดียวกันนี้ ทางกองทัพก็ได้ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณด้วยข้อหาทุจริต ก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่เพื่อต่อต้านทักษิณโดยกลุ่มเสื้อเหลือง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กลุ่มเสื้อแดงและกลุ่มเสื้อเหลืองก็กลายเป็นตัวละครสำคัญในเหตุวิกฤตทางการเมืองของประเทศ ในขณะเดียวกัน นักการเมืองบางส่วนก็ได้วิจารณ์พรรคไทยรักไทยของอดีตนายกฯทักษิณ ซึ่งมีเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา ในประเด็นของการผูกขาดอำนาจรัฐ

โดยในระหว่างการชุมนุมครั้งล่าสุดที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 13 มี.ค.นั้น กลุ่มผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดการเลือกตั้ง เนื่องจากพวกเขามั่นใจว่าจะได้รับชัยชนะ เพราะพรรคเพื่อไทยที่สนับสนุนอดีตนายกฯทักษิณมีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในรัฐสภา

ทั้งนี้ ผู้ต่อต้านรัฐบาลจำนวนมากได้เดินขบวนไปยังบ้านพักของนายอภิสิทธิ์และเทเลือดที่หน้าบ้าน เพื่อประท้วงการปกครองแบบอำมาตย์ หลังจากนั้นผู้ชุมนุมได้มารวมตัวกันที่ด้านนอกของสถานทูตสหรัฐและกล่าวหาเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐเรื่องการดักฟังการคุยโทรศัพท์ของทักษิณ

อย่างไรก็ดี ไม่มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มเสื้อแดงและตำรวจปราบจลาจลในการชุมนุมครั้งล่าสุดนี้ โดยจนถึงขณะนี้ กลุ่มผู้ประท้วงยังคงสามารถหลีกเลี่ยงเหตุรุนแรงได้ ตามคำมั่นสัญญาของแกนนำของกลุ่มเสื้อแดงที่ได้ประกาศไว้ก่อนที่จะเริ่มเดินขบวนการประท้วง ขณะที่ในการประท้วงเมื่อปีที่แล้วนั้น มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีกประมาณ 130 รายท่ามกลางเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นในหลายจุด กลุ่มผู้ประท้วงจากฝั่งเสื้อแดงยังได้บุกเข้าไปยังสถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ส่งผลให้ไทยต้องยกเลิกการประชุมทั้งหมด

แม้การเทเลือดตามสถานที่ต่างๆเพื่อแสดงให้เห็นถึงการเสียสละเพื่อประชาธิปไตยของกลุ่มผู้ประท้วงนั้น สามารถดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกได้ แต่การกระทำดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงเข้าใกล้เป้าหมายในการจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่แต่อย่างใด

ผู้เชี่ยวชาญในกรุงเทพฯระบุว่า การชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็นไปด้วยวิธีการที่สันติหรือรุนแรง ต่างก็ไม่สามารถล้มรัฐบาลลงได้

โดยในปี 2551 กลุ่มเสื้อเหลืองได้เข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลาหลายเดือนและยังได้ยึดสนามบินในกรุงเทพฯ 2 แห่งเป็นเวลา 1 สัปดาห์ แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลหมดอำนาจ ซึ่งนักวิเคราะห์ทางการเมืองระบุว่า การชุมนุมหลายๆครั้งที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนชนวนที่เกือบจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในกลไกการบริจาคเงินหาเสียงโดยผิดกฎหมาย ซึ่งอาจจะทำให้รัฐบาลตกอยู่ในความเสี่ยงได้หากศาลตัดสินพิพากษาว่าพรรคมีความผิด

แกนนำกลุ่มเสื้อแดงและนายอภิสิทธิ์ประกาศว่า พร้อมที่จะเจรจากันโดยตรง ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่า การชุมนุมอาจจะไม่สามารถบรรลุผลใดๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวจะสิ้นสุดลง การปะทะกันระหว่างชนชั้นทางสังคมจะยังมีอยู่ต่อไป และการโต้เถียงกันเรื่องนโยบายต่างๆของทักษิณอาจจะยั่วยุให้เกิดปัญหาในลักษณะที่ใกล้เคียงกันนี้ตามมาอีกในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ