กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน, นายสมชาย แสวงการ, นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา, น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม., น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี เป็นตัวแทนนำรายชื่อ ส.ว. 80 คน ที่เข้าชื่อยื่นญัตติเพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา
นายคำนูณ กล่าวว่า จากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงในพื้นที่กทม.ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.โดยระดมมวลชนจำนวนมากเข้ามาเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา พร้อมประกาศเป้าหมายว่าเป็นการโค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตย เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น จนมีการเจาะเลือดผู้ชุมนุมไปเทตามที่ต่างๆ นั้น
กลุ่ม 40 ส.ว.เห็นว่าข้อเรียกร้องบางประการของผู้ชุมนุมสะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาของประเทศที่ดำรงอยู่ เช่น ปัญหาความไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงความขัดแย้งระหว่างคนในชาติที่จะขยายตัวต่อไป จึงจำเป็นที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติควรจะต้องรับฟังและนำไปพิจารณาหาทางคลี่คลายปัญหาต่อไป เพื่อไม่ให้ทำลายความเข้มแข็งของประเทศและเชื้อไฟของความขัดแย้งระหว่างคนในชาติจนยากที่จะเยียวยา
ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมีกลุ่มและขบวนการที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแปลกแยกไปจากระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้พยายามเข้ามาบทบาทเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของมวลชน มีกลุ่มบุคคลที่อ้างตัวเป็นองค์กรต่างๆ ที่ออกแถลงการณ์ที่กินความไปถึงการปฏิวัติสังคม และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมครั้งใหญ่ พยายามปลุกปั่นและชี้นำไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการ
นอกจากนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ต่างประเทศ แต่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศอย่างใกล้ชิด ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดการเจรจาเพื่อคลี่คลายปัญหา โดยเฉพาะเกี่ยวกับระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ทั้งนี้ในการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ส่งผลอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง รวมทั้งความไม่สงบสุขและขาดประโยชน์ของประชาชนเจ้าของประเทศ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายระดมความเห็นเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป
ด้านนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ถือเป็นญัตติที่ 2 ที่คณะส.ว.ได้ยื่นตามมาตรา 161 ซึ่งตนจะประสานไปยังนายกรัฐมนตรีพร้อมกับญัตติที่ส.ว.อีกกลุ่มยื่นก่อนหน้านี้ โดยอย่างช้าภายในวันพรุ่งนี้(23 มี.ค.)
อย่างไรก็ดี ถือว่าไม่ใช่เป็นการเสนอญัตติที่ซ้ำซ้อน เพราะสามารถนำมาพิจารณารวมกันได้ ส่วนรูปแบบการอภิปรายคงต้องหารือกันในที่ประชุม ซึ่งอาจจะให้ผู้ยื่นญัตติแรกอภิปรายเปิดก่อน แล้วให้ผู้ยื่นญัตติที่สองเปิดต่อสลับกันไป แต่การนัดประชุมเพื่ออภิปรายคงไม่สามารถเปิดได้ภายในสัปดาห์หน้าเนื่องจากติดประชุมสหภาพรัฐสภา(IPU) ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ โดยจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 25 มี.ค.-2 เม.ย.นี้