In Focusกฎหมายประกันสุขภาพสหรัฐ ชัยชนะของโอบามาและการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ในรอบ 40 ปี

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 24, 2010 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในที่สุด บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐก็ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสังคมครั้งใหญ่สุดของสหรัฐในรอบกว่า 40 ปี หลังจากเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติด้วยคะแนนเสียง 219 ต่อ 212 เสียง ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นฉบับเดียวกับที่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อดูจากคะแนนแล้ว งานนี้เรียกได้ว่าหืดขึ้นคอกันเลยทีเดียวสำหรับโอบามา ที่กว่าจะตะล่อมสมาชิกพรรคเดโมแครตให้ลงคะแนนเสียงอันมีค่าผ่านร่างกฎหมายที่ตนเองได้ประกาศไว้ว่าจะเป็นหนึ่งในวาระหลักของการทำงาน

ทั้งนี้ โอบามาต้องฝ่าฟันมานานนับปีกว่าที่จะผลักดันร่างกฎหมายนี้ให้ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกพรรคเดโมแครตและสภาคองเกรส ซึ่งสาเหตุที่ส.ส.เดโมแครตหลายรายแปรพักตร์ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ มีหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่กลัวว่าเงินประกันสุขภาพจะถูกนำไปใช้จ่ายในการทำแท้ง หรือไม่มีมาตรการรัดกุมพอในการควบคุมบริษัทประกันเอกชน รวมทั้งงบประมาณด้านสาธารณสุขของรัฐบาลที่จะถีบตัวสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ ส.ส.เดโมแครตหวั่นว่า เหตุผลทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้อาจจะทำให้พรรคไม่สามารถกวาดคะแนนเสียงได้มากในการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้

ดังนั้น กว่าที่พันธมิตรในพรรคเดโมแครตจะสามารถรวบรวมคะแนนเสียงให้ได้ 216 เสียงที่จำเป็นสำหรับการผ่านกฎหมายได้อย่างราบรื่นนั้น จึงเปรียบเหมือนกับการเดิมพันเส้นทางการเมืองในอนาคตของโอบามาเลยทีเดียว

ส่วนฝั่งรีพับลิกันนั้นแทบจะไม่ต้องพูดถึง เมื่อส.ส.รีพับลิกัน 174 คนไม่มีใครลงคะแนนให้ร่างกฎหมายฉบับนี้เลยแม้แต่คนเดียว ด้วยมองว่าค่าใช้จ่ายในการปฏิรูปครั้งนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และมีความเป็นไปได้ที่การทำประกันส่วนบุคคล รวมทั้งการดูแลและการรักษาทางการแพทย์จะได้รับผลกระทบ และนำไปสู่การที่รัฐบาลเข้าควบคุมอุตสาหกรรมประกันสุขภาพของเอกชน ในขณะที่ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูประบบประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานและออกมาเดินขบวนประท้วง เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลจะต้องใช้งบมากเกินควรทั้งที่สถานะการคลังของประเทศยังไม่มีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ดี โอบามาให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายฉบับนี้มาก แม้ว่าจะมีกระแสคัดค้านต่างๆนานา แต่ผู้นำสหรัฐคนนี้ก็ไม่ละความพยายามที่จะเดินหน้าต่อไปท่ามกลางการโต้แย้งกันอย่างดุเดือดตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่า โอบามาให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบประกันสุขภาพนี้ ก็คือการที่เขาตัดสินใจเลื่อนการเดินทางเยือนอินโดนีเซียและออสเตรเลียถึง 2 ครั้ง โดยแรกเริ่มเดิมที ผู้นำสหรัฐมีกำหนดการที่จะออกเดินทางเยือนเอเชียในวันที่ 18 มีนาคม แต่ได้ตัดสินใจเลื่อนออกไปอีกสามวันเป็นวันที่ 21 มีนาคม ก่อนที่จะประกาศเลื่อนอีกครั้งซึ่งยังไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน สำหรับสาเหตุของการเลื่อนเดินทางนั้น ก็เพื่อผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้ได้รับไฟเขียวจากสภาคองเกรสเสียก่อน และแล้วความมุ่งมั่นของโอบามาผู้มาพร้อมกับแคมเปญหาเสียง "CHANGE" ก็กลายเป็นความจริง

สาเหตุหนึ่งที่โอบามาให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบประกันสุขภาพมาตั้งแต่แรกนั้น เนื่องมาจากค่าใช้จ่ายในเรื่องการรักษาพยาบาลในสหรัฐนั้นสูงขึ้น นอกจากนี้ ระบบประกันสุขภาพที่มีอยู่เดิมก็ยังไม่ครอบคลุมชาวอเมริกันอีกเป็นจำนวนมาก โดยในประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น เรียกได้ว่า หากชาวอเมริกันคนไหนที่ไม่มีประกันสุขภาพและเจ็บไข้ได้ป่วยถึงขั้นต้องหามเข้าโรงพยาบาลแล้วละก็ อาจจะถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวเลยทีเดียว จากข้อมูลที่บีบีซีได้นำเสนอ พบว่า อัตราการล้มละลายถึงครึ่งหนึ่งของประชาชนในสหรัฐนั้น ส่วนหนึ่งมาจากค่าใช้จ่ายในเรื่องการรักษาพยาบาลด้วยเช่นกัน และเมื่อพิจารณาจากภูมิหลังของโอบามาเอง ก็จะทราบว่าเขาเคยจับงานด้านสังคมสงเคราะห์มาก่อน ซึ่งงานนี้ทำให้เขามีความเข้าใจเป็นอย่างดีกับชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นต่างๆในสังคม

ระบบประกันสุขภาพในสหรัฐ

ระบบประกันสุขภาพในสหรัฐก่อนที่จะมีการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว มีอยู่ด้วยกันหลายระบบ หนึ่งในนั้นได้แก่ Medicare ซึ่งเป็นระบบเฮลธ์แคร์ที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป อีกระบบมีชื่อว่า Medicaid ซึ่งเป็นบริการที่รัฐบาลให้แก่ประชาชนที่มีรายได้ต่ำ

นอกจากนี้ยังมีระบบประกันสุขภาพที่นายจ้างจะสมทบกับเงินที่หักจากเงินเดือนของพนักงาน ระบบประกันสุขภาพสำหรับอดีตทหารผ่านศึก และระบบประกันสุขภาพสำหรับเด็ก ซึ่งจะครอบคลุมถึงเด็กๆที่พ่อแม่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายประกันสุขภาพแบบ Medicaid

ทั้งนี้ เมื่อมีการปฏิรูปแล้ว ระบบประกันสุขภาพประชาชนจะครอบคลุมชาวอเมริกันที่ยังไม่มีประกันสุขภาพมากขึ้นถึง 32 ล้านคน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ต่ำ ผู้พิการ ตลอดจนการห้ามมิให้บริษัทประกันปฏิเสธการทำประกันสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว ขณะเดียวกันรัฐจะให้ความช่วยเหลือประชาชนในการซื้อประกันสุขภาพภาคเอกชนด้วยเช่นกัน

ในส่วนของนายจ้างที่มีพนักงานมากกว่า 50 คนที่ไม่ดำเนินการเรื่องประกันให้กับพนักงานนั้นจะต้องถูกปรับ สำหรับประโยชน์ทางฝั่งเอกชนนั้น บริษัทประกันจะมีโอกาสในการเข้ามาร่วมแข่งขันมากขึ้นเพื่อลดค่าเบี้ยประกัน

โดยกฎหมายฉบับนี้จะมีมูลค่า 9.4 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีข้างหน้า และทำให้สัดส่วนของประกันครอบคลุมเพิ่มขึ้นเป็น 95% จากเดิมที่ 83% สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการปฏิรูปนั้นจะได้รับการชดเชยด้วยการเรียกเก็บภาษีแบบใหม่ และเงินออมจากภายในระบบเอง

ด้านโกลด์แมน แซคส์ กรุ๊ป มองว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการจ้างงานในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในปีนี้ เพราะกฎหมายระบุว่ารัฐบาลจะให้เครดิตภาษีแก่บริษัทที่มีการจ้างงานพนักงานต่ำกว่า 25 คน เพื่อนำไปจ่ายค่าธรรมเนียมประกันสุขภาพ และบริษัทที่มีพนักงานน้อยกว่า 10 คนอาจได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับดังกล่าวมากที่สุด เพราะจะได้รับเงินช่วยเหลือ 35% ในการจ่ายค่าธรรมเนียมประกันสุขภาพ

ประธานาธิบดีโอบามากล่าวภายหลังจากสภาผู้แทนฯโหวตรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวว่า การลงมติครั้งนี้ไม่ใช่ชัยชนะของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นชัยชนะของประชาชนทั้งประเทศ พร้อมกับกล่าวว่า การผ่านร่างกฎหมายถือเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า สหรัฐพร้อมจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่

ทั้งนี้ หลังจากที่โอบามาได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายไปแล้ว ต่อไปเขาก็จะต้องช่วยเดินสายหาเสียงในหมู่ชาวอเมริกัน โดยหยิบยกประเด็นเรื่องกฎหมายประกันสุขภาพขึ้นมาเพิ่มคะแนนเสียง โดยในวันพรุ่งนี้ โอบามาจะเดินทางไปรัฐไอโอวาเพื่อร่วมพูดคุยและชี้แจงว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านเฮลธ์แคร์แก่ธุรกิจขนาดเล็กและประชาชนได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม การเดินสายหาเสียงครั้งนี้อาจจะมีอุปสรรคขวากหนามอยู่ไม่น้อย เพราะทันทีที่เขาได้ลงนามบังคับใช้กฎหมาย อัยการจากรัฐต่างๆ 13 รัฐ สมาชิกพรรครีพับลิกัน 12 ราย และเดโมแครต 1 ราย ก็เตรียมเรื่องฟ้องร้องรัฐบาลกลางทันที เพื่อหาทางยกเลิกการปฏิรูปดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า การปฏิรูปดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

เรียกว่างานเข้าตั้งแต่ต้นจนจบเลยทีเดียวกับภารกิจพลิกหน้าประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของผู้นำผิวสีที่ชื่อ “โอบามา" ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าผู้นำสหรัฐผู้นี้จะสามารถใช้วาทศิลป์เกลี้ยกล่อมฝ่ายตรงข้ามให้หันมาเห็นดีเห็นงามกับนโยบายปฏิรูประบบประกันสุขภาพครั้งประวัติศาสตร์ของเขาได้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ