ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนของเช้าวันจันทร์ที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ไม่มีใครคาดคิดว่าใจกลางกรุงมอสโค เมืองหลวงอันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของรัสเซียจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น กระทั่งเมื่อสำนักข่าวอิทาร์-ทาส ของรัสเซียรายงานว่า ได้เกิดเหตุระเบิดรุนแรงที่สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงมอสโคถึง 2 ครั้งติดต่อกัน ครั้งแรกเกิดขึ้นสถานีรถไฟใต้ดินลุบยันกา จากนั้นไม่ถึง 40 นาทีก็ได้เกิดเหตุระเบิดที่สถานีปาร์กคัลตูรี เหตุการณ์ไม่คาดฝันของเช้าวันวันนั้น ได้คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปถึง 39 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 60 คน ผลการตรวจสอบเบื้องต้นของทางการรัสเซียระบุว่าเป็นฝีมือของขบวนการก่อการร้าย และนับเป็นเหตุก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดในรอบ 6 ปีของแดนหมีขาว
ผู้สื่อข่าวของอิทาร์-ทาสรายงานว่า สิ้นเสียงระเบิดที่สถานีรถไฟใต้ดินทั้งสองแห่ง บรรยากาศโดยรอบก็เต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน ที่หนักหนาสาหัสก็คือหน่วยกู้ภัยเข้าถึงจุดที่เกิดเหตุได้ยากมากเพราะเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ทำให้การจราจรในกรุงมอสโคกลายเป็นอัมพาตทันที ขณะที่เครือข่ายโทรศัพท์มือถือในกรุงมอสโคล่มเพราะอัตราการใช้บริการมือถือพุ่งถล่มทลายเนื่องจากบรรดาญาติพี่น้องและเพื่อนพ้องของผู้ที่ใช้บริการรถไฟใต้ดินพากันกระหน่ำโทรเช็คข่าวของบุคคลที่รู้จักและคนในครอบครัว บรรยากาศในยามเช้าวันนั้นจึงเต็มไปด้วยความตกตะลึง หวาดกลัว และใจหายใจคว่ำ แทนที่จะเป็นเช้าวันจันทร์อันสดใสที่ผู้คนรีบเดินทางไปทำงานอย่างกระปรี้กระเปร่าและสดชื่น
นายยูริ เซียวมิน อัยการสูงสุดประจำกรุงมอสโก กล่าวว่า จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้เชื่อว่า เหตุการณ์ระเบิดอันอุกอาจครั้งนี้เป็นการโจมตีด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย โดยมือระเบิด 2 คนเป็นผู้หญิงทั้งคู่ ซึ่งสวมเข็มขัดผูกระเบิดติดไว้กับตัว จากนั้นก็จุดชนวนระเบิด ขณะที่นายอเล็กซานเดอร์ บอร์ตนิคอฟ หัวหน้าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย (เอฟเอสบี) แม้จะยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว แต่เขาเชื่อว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มกบฏนอร์ทคอเคซัส ซึ่งรวมถึงเชชเนีย และอินกูเชเตีย ที่ก่อการโจมตีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นฝ่ายรัสเซียมาหลายครั้ง ส่วนหน่วยงาน "ยูอา อินเทลเซ็นเตอร์" ที่จับตาความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้าย ก็วิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจว่า กลุ่มที่ก่อการในครั้งนี้น่าจะเป็นกลุ่มของนายโดกู อูมรอฟ ผู้ทรงอิทธิพลในคอเคซัส หลังจากที่เคยมีคำขู่ว่ากบฏกลุ่มนี้จะจะรุกพื้นที่ก่อการเข้าไปในใจกลางรัสเซีย ราคาน้ำมันดิบที่ตลาด NYMEX พุ่งขึ้นทันที 2.17 ดอลลาร์ มาปิดที่ระดับ 82.17 ดอลลาร์/บาร์เรล ในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ที่ 29 มี.ค. เพราะเหตุการณ์ระเบิดสถานีรถไฟใต้ดินในรัสเซียได้สร้างความตื่นตระหนกและทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดปัญหาด้านซัพพลายพลังงาน เนื่องจากกรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ และยังทำให้เกิดความกังวลตามมาว่าอาจเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นๆ รวมถึงกลุ่มชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ การถูกลูบคมครั้งนี้ทำให้ผู้นำรัสเซียเต้นผางและมีปฏิกริยาทันที โดยนายกรัฐมนตรีวลาดีเมียร์ ปูติน ที่กล่าวกันว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจแทบทุกเรื่องของประธานาธิบดีดมิทรี เมดเวเดฟ ออกมาแสดงความคิดเห็นแบบทันควันตามประสาคนเลือดร้อนว่า เขาจะพลิกแผ่นดินตามหาผู้บงการมารับโทษให้จงได้และจะกำจัดขบวนการก่อการร้ายให้สิ้นซาก ด้านประธานาธิบดีเมดเวเดฟ วิตกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงขนาดยกหูโทรศัพท์โดยตรงถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ เพื่อขอดึงพี่เบิ้มมาร่วมปราบปราบขบวนการก่อการร้ายอีกแรง ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะโอบามายืนยันว่าสหรัฐจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับรัสเซียในการต่อต้านก่อการร้าย นอกจากนี้ ประธานาธิบดีเมดเวเดฟยังสั่งการให้เพิ่มระดับรักษาความปลอดภัยทั่วประเทศ รวมถึงตั้งจุดตรวจสัมภาระที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั่วกรุงมอสโค... ท่านเมดเวเดฟคงไม่สนใจหรอกหากใครจะค่อนแคะว่า "โอเวอร์รีแอ็ค" เพราะมือจุดชนวนระเบิดอหังการถึงขั้นเลือกระเบิดสถานีรถไฟใต้ดินลุบยันกา ซึ่งมีทำเลที่ตั้งใกล้กับ เอฟเอสบี หรือหน่วยงานที่สานต่อภารกิจของหน่วยสืบราชการลับในยุคโซเวียตเรืองอำนาจ (เคจีบี)
ในขณะที่กระบวนการสืบสวนและไล่ล่าหาตัวผู้บงการลอบวางระเบิดยังดำเนินต่อไป ทางการกรุงมอสโคได้ประกาศให้อังคารที่ 30 มี.ค.2553 เป็นวันร่วมไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตทั้ง 39 คน ชาวรัสเซียจำนวนมากพร้อมใจกันเดินทางมาที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลุบยันกา และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินปาร์กคัลตูรี เพื่อร่วมจุดเทียนและวางดอกไม้เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต โดยประธานาธิบดีเมดเวเดฟและผู้นำระดับสูงของรัสเซียได้เข้าร่วมพิธีดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีปูตินยังได้เดินทางไปเยี่ยมปลอบขวัญผู้ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาล
ภาพจากจอโทรทัศน์แสดงให้เห็นถึงบรรยากาศที่เศร้าโศกของผู้ที่เดินทางมาร่วมพิธีไว้อาลัย บางคนร้องไห้อย่างทำใจไม่ได้กับการจากไปโดยไม่ทันได้ร่ำลาของบุคคลอันเป็นที่รัก ...เหตุก่อการร้ายที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินในรัสเซียทำให้หลายประเทศทั่วโลกตื่นตัวในเรื่องความปลอดภัยของระบบขนส่งมวลชน ไม่เว้นแม้แต่จีนที่ประกาศเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยตามรถไฟใต้ดินในกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ พร้อมตรึงกำลังตำรวจหลายพันนายประจำการตามสถานีรถไฟใต้ดิน ยิ่งในช่วงนี้จีนอยู่ในระหว่างการเตรียมงานเซี่ยงไฮ้ เวิลด์ เอ็กซ์โป (Shanghai World Expo) ด้วยแล้ว ... ความปลอดภัยถือเป็นจุดแข็งที่จีนไม่อาจละเลยได้
ทันทีที่ภาพข่าวการระเบิดสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินในรัสเซียถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก บรรดาผู้นำจากนานาชาติก็พร้อมใจกันออกแถลงการณ์ประณามผู้ก่อการและผู้บงการ พร้อมกับแสดงความเห็นใจกับชาวรัสเซียที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียในครั้งนี้ รวมถึงนายบัน กี-มุน เลขาธิการยูเอ็น ประธานาธิบดีหู จิ่น เทา ของจีน นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ และนายแจน ฟิสเชอร์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเชค นอกจากนี้ ในช่วงท้ายของการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกลุ่ม G8 ที่ประชุมยังได้ประณามการกระทำดังกล่าวและขอยืนหยัดร่วมมือกับรัสเซียในการกำจัดผู้ก่อการร้ายด้วย
รัสเซีย หรือ สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัสเซียประสบกับเหตุวินาศกรรมและก่อการร้ายมากกว่าภัยพิบัตทางธรรมชาติ จนสร้างความหนักใจให้กับบรรดาผู้นำเป็นอย่างมาก แต่เหตุก่อการร้ายรุนแรงที่ยังคงเป็นที่จดจำของคนทั่วโลกคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2547 เมื่อกลุ่มกบฏติดอาวุธ 30 คนจับตัวประชาชน พร้อมเด็กนักเรียนไปเป็นตัวประกันในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่เมืองเบสแลน เหตุการณ์ในครั้งนี้กินเวลายืดเยื้อถึง 3 วัน ซึ่งเป็น 3 วันแห่งความตึงเครียดทั้งของผู้ถูกจับเป็นตัวประกันและเจ้าหน้าที่รัฐ และจบลงด้วยการที่วลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในขณะนั้น ตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการออกคำสั่งให้กองกำลังชุดเฉพาะกิจบุกเข้าไปชิงตัวประกัน แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะกลุ่มกบฏไม่ยอมจำนนและยิงต่อสู้ จนเป็นให้เหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 334 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเด็กที่ไร้เดียงสา ... เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้นายปูตินถูกวิพาษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาประเทศและครอบครัวผู้เสียชีวิต เหตุก่อการร้ายที่โรงเรียนในเมืองเบสแลนเกิดขึ้นไม่นาน หลังจากชาวรัสเซียเพิ่งอกสั่นขวัญหายกับเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารโหม่งโลกเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2547 ส่งผลให้ผู้โดยสารทั้งหมด 90 คนเสียชีวิต ซึ่งหน่วยสืบสวนของรัสเซียระบุว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อการร้ายที่ใช้ระเบิดพลีชิพ จากนั้นสองวันถัดมาได้เกิดเหตุระเบิดพลีชีพที่สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงมอสโก เป็นเหตุให้มีผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิต 10 ราย และบาดเจ็บอีก 51 ราย จากนั้นในช่วงปีพ.ศ.2548 - 2550 ก็เกิดเหตุการณ์รุนแรงเป็นระยะๆในรัสเซีย แต่ก็ไม่มากเท่าในปีพ.ศ.2547 กระทั่งเมื่อเดือนส.ค.2551 ทั่วโลกหันมาจับตามองรัสเซียอีกครั้ง กับการทำ "สงครามแห่งปี" ที่รัฐบาลรัสเซียส่งกองทหารบุกจอร์เจีย ข่าวดังกล่าวติดอันดับ Top Ten ข่าวดังของสื่อหลายสำนัก เหตุการณ์ในครั้งนั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อจอร์เจียส่งทหารเข้าไปในเขตเซาท์ออสเซเทีย ที่พยายามแยกตัวออกจากจอร์เจียและมีจุดยืนในการสนับสนุนรัสเซีย ส่งผลให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการใช้กำลังอย่างรุนแรงจนกลายเป็นสงครามไปในที่สุด การปะทะกันในครั้งนั้นสร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก เนื่องจากจอร์เจียเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันทางเรือที่สำคัญไปยังกลุ่มประเทศตะวันออก ซึ่งนักลงทุนมองว่าสถานการณ์ความรุนแรงนี้อาจส่งผลกระทบต่อภาวะอุปทานพลังงานในชาติตะวันตก อีกทั้งยังตอกย้ำถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างสหรัฐและรัสเซีย โดยสหรัฐโดดเข้าสนับสนุนจอร์เจียและอยากให้จอร์เจียเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีปูตินออกมาปกป้องการทำสงครามของรัสเซียในจอร์เจียว่า การที่รัสเซียต้องรุกรานจอร์เจียเนื่องจากจอร์เจียได้โจมตีเมืองสำคัญของเซาท์ออสเซเทีย แต่ในที่สุด ประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โกซีย์ของฝรั่งเศส ได้ตัดสินใจทำหน้าที่เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเพื่อผลักดันให้มีการถอนกองกำลังรัสเซียออกจากเซาท์ออสเซเทีย จนทั้งสองฝ่ายยอมลงนามในข้อตกลงหยุดยิง ท่ามกลางความโล่งใจของคนทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศกล่าวว่า โดยปกติชาวรัสเซียมีความรู้สึกไม่ค่อยมั่นคงในชีวิต อาจเพราะไม่แน่ใจในการปกครองของรัฐที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และไม่แน่ใจว่าระบบเศรษฐกิจของประเทศจะล่มสลายเหมือนกับในอดีตที่เป็นมาหรือไม่ แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลรัสเซียก็พยายามปลูกฝังค่านิยมในการรักชาติให้กับประชาชน เพราะเชื่อว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ชาวรัสเซียจะรวมตัวกันและปกป้องผืนแผ่นดินของชาติเอาไว้ได้ ... ภาพประชาชนจำนวนมากที่แห่กันเดินทางไปร่วมไว้อาลัยผู้เสียชีวิตที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงมอสโคเมื่อไม่นานมานี้คงเป็นประจักษ์พยานได้ดีว่า ท่ามกลางเสถียรภาพที่ถูกสั่นคลอนนั้น ชาวรัสเซียยังคงเกาะกันเหนียวแน่น และพร้อมที่จะเดินไปด้วยกันในวันใหม่ แม้จะไม่รู้ว่า ...รุ่งเช้าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น