ประธานาธิบดีหู จิ่นเทาของจีน กล่าวกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ ในระหว่างสนทนาทางโทรศัพท์ว่า ความสัมพันธ์ที่ "เข้มแข็งและมั่นคง" ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศในระยะยาว
โดยผู้นำจีนได้กล่าวถึงประเด็นเศรษฐกิจและการค้ากับผู้นำสหรัฐว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ ทั้งจีนและสหรัฐจึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ยั่งยืน
ประธานาธิบดีจีนแสดงความหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะสามารถยุติความขัดแย้งด้านการค้ากันได้ด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และปรึกษาหารือกัน
ด้านโอบามากล่าวว่า สหรัฐเองก็เข้าใจดีถึงความท้าทายที่จีนกำลังเผชิญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และทั้งสองฝ่ายควรจะพยายามต่อไปเพื่อแก้ปัญหาที่ต่างฝ่ายต่างกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ในระหว่างการสนทนา ผู้นำจีนยังได้เน้นย้ำว่า ประเด็นไต้หวันและทิเบตนั้นมีความเกี่ยวข้องกับอธิปไตยของจีนและความเป็นปึกแผ่นของชาติ ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์หลักของประเทศ การรับมือกับเรื่องดังกล่าวอย่างเหมาะสมจึงถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ
ทั้งนี้ การพูดคุยระหว่างผู้นำชาติมหาอำนาจแห่งตะวันออกและตะวันตกมีขึ้นหลังจากที่นายฉิน กัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนเพิ่งออกมาแถลงวานนี้ว่า ประธานาธิบดีหูยืนยันที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Security Summit) ซึ่งประธานาธิบดีโอบามาจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 12 - 13 เมษายนนี้
การประชุมสุดยอดดังกล่าวได้รับความสนใจจากนานาประเทศว่า ผู้นำจีนจะตัดสินใจเข้าร่วมการประชุมหรือไม่ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐตกอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดมาสักระยะหนึ่งแล้ว หลังเกิดความขัดแย้งในประเด็นต่างๆ ทั้งการที่สหรัฐขายอาวุธให้ไต้หวัน การที่ปธน.โอบามาพบปะกับองค์ดาไล ลามะ ผู้นำพลัดถิ่นทิเบต และการที่กูเกิลถอนบริการเสิร์ชเอ็นจินออกจากจีน
โดยในโอกาสนี้ ปธน.หูก็ได้กล่าวกับปธน.โอบามาถึงประเด็นนิวเคลียร์และการเข้าร่วมประชุมสุดยอดดังกล่าวว่า จีนให้ความสำคัญกับปัญหานิวเคลียร์เสมอมา พร้อมยืนยันว่าจีนคัดค้านการแพร่กระจายนิวเคลียร์และการก่อการร้ายด้วยอาวุธนิวเคลียร์ และสนับสนุนความร่วมมือกับประชาคมโลกในการต่อต้านเรื่องดังกล่าว
ผู้นำจีนยังได้กล่าวด้วยว่า จีนมีความตั้งใจและเต็มใจที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐและฝ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะรับรองว่าการประชุมที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนนี้จะประสบความสำเร็จและได้ผล
ทั้งนี้ ผู้นำและผู้แทนจากประเทศต่างๆกว่า 40 ประเทศและองค์กรระดับภูมิภาคและนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) และสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้