คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)แถลงขอให้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)คืนพื้นที่แยกราชประสงค์ที่ปักหลักชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.กลับไปชุมนุมบริเวนสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยประเมินความเสียหายในเบื้องต้นทีททำให้ย่านธุรกิจการค้าสำคัญเป็นอัมพาต 2 วันที่ผ่านมาราว 200-300 ล้านบาท/วัน ซึ่งหากการชุมนุมยัดยืดเยื้อต่อไปถึง 1 เดือนอาจสร้างความเสียหายสูงถึง 1-2 หมื่นล้านบาท
นายสุมิดา บูรณศิริ รักษาการ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า กกร.ประชุมร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์ผลกระทบทางภาคธุรกิจที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช.บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่ง กกร.มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการชุมนุมดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อการทำมาหากินในทุกระดับ ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ไปจนถึงร้านค้าย่อย รวมทั้ง นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ
ประกอบกับ ข่าวการลอบวางระเบิดที่นำเสนอออกสู่สื่อต่างประเทศเกือบทุกวัน จนเป็นเหตุให้หลายประเทศขาดความเชื่อมั่นและมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนงดเดินทางมาประเทศไทยในขณะนี้ ทาง กกร.เป็นห่วงว่า หากสถานการณ์การชุมนุมที่แยกราชประสงค์ยังคงยืดเยื้ออยู่ต่อไป อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเข้าขั้นวิกฤติ เพราะไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเข้าประเทศ
"กกร.ห่วงสถานการณ์ ถ้าหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเศรษฐกิจของประเทศจะเข้าขั้นวิกฤติ เพราะเงินทุนหมุนเวียนไม่เข้าประเทศ ขาดเงินไปจ้างงาน ไม่มีเงินจับจ่ายเพื่อการบริโภค การพัฒนาประเทศจะหยุดชะงักและสูญเสียโอกาสการแข่งขันในทุกระดับ" นายสุมิดา กล่าว
ดังนั้น มติของกกร. ที่เป็นข้อเสนอที่มีต่อรัฐบาลและกลุ่มนปช. คือ ขอให้นปช.เคลื่อนย้ายการชุมนุมออกจากสี่แยกราชประสงค์กลับไปชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินเช่นเดิม พร้อมขอให้รัฐบาลเร่งทำแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระยะสั้นที่มีผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งแผนงานในระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริงเพื่อนำเสนอต่อรัฐสภาโดยเร็ว
นายสุมิดา กล่าวด้วยว่า แม้ นปช.จะมีสิทธิในการชุมนุมเพื่อแสดงออกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ควรจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุมควรมีความชัดเจนและจริงใจต่อกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง พร้อมกันนี้ทาง กกร.เห็นว่า ปัญหาพื้นฐานของความขัดแย้งในปัจจุบันเกิดจากความเหลื่อมล้ำในทุกด้าน ดังนั้น ขอให้ทุกฝ่ายวมกันระดมความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้นให้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งกำหนดแนวทางและเป้าหมายสำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว
"การแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขและดำเนินมาตาการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง กกร.มองว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจหลายประเด็นได้เริ่มมีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนขึ้น หากเกิดความชะงัก จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง เช่น กรณีมาบตาพุด และงบประมาณแผ่นดิน"
ด้านนายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ในช่วง 3 วัน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ประเมินในเบื้องต้นว่า ได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นเม็ดเงินประมาณ 200-300 ล้านบาท/วัน และหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อก็คาดว่าจะมีการสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท/เดือน
พร้อมระบุว่า ทางภาคเอกชนยังสนับสนุนให้มีการเจรจาในรอบ ที่ 3 แต่ทั้งนี้มองว่าการเจรจาใน 2 รอบที่ผ่านมาที่ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะมีการเปลี่ยนคนอื่นให้มาเจรจาแทน