รมว.พลังงานสหรัฐชี้เทคโนโลยีขุดเจาะใหม่ช่วยสำรองก๊าซธรรมชาติได้มากขึ้น 2 เท่า

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 7, 2010 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สตีเวน ชู รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐ กล่าวในการประชุมที่กรุงวอชิงตันซึ่งร่วมกันจัดโดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานและมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ว่าสหรัฐอาจสำรองก๊าซธรรมชาติได้มากกว่าเดิมสองเท่าด้วยเทคโนโลยีขุดเจาะแบบใหม่

เทคโนโลยีการขุดเจาะแบบใหม่มีชื่อเรียกว่า Hydraulic fracturing เป็นกระบวนการทำให้เปลือกหินที่กักเก็บก๊าซเกิดรอยแตก ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซจากบ่อก๊าซ รวมทั้งจากชั้นหินและชั้นถ่านหิน

นายชูกล่าวว่าสหรัฐกำลังพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล อาทิ เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน (CCS) เนื่องจากสหรัฐมีปริมาณถ่านหินสำรองมากถึง 1 ใน 4 ของโลก สหรัฐจึงลงทุน 4 พันล้านดอลลาร์ในเทคโนโลยีนี้ พร้อมด้วยเงินทุนจากภาคเอกชนอีก 7 พันล้านดอลลาร์

นอกจากนั้นนายชูยังกล่าวว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จะเป็น "ส่วนหนึ่งของอนาคต" และเตาปฏิกรณ์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กที่มีขนาดไม่ถึง 300 เมกะวัตต์และอาจไม่ถึง 100 เมกะวัตต์จะมีประโยชน์อย่างมาก

โดยในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารวอลล์สตรีทเจอร์นัลเมื่อวันที่ 23 มีนาคม นายชูกล่าวว่าเตาปฏิกรณ์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กจะมีขนาดไม่ถึง 1 ใน 3 ของเตาปฏิกรณ์ในปัจจุบัน ทำให้สามารถผลิตได้ในโรงงานและสามารถเคลื่อนย้ายไปที่อื่นได้ด้วยรถบรรทุกหรือรถไฟ และหากการทำการตลาดปรสบความสำเร็จ เตาปฏิกรณ์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กจะช่วยขยายโอกาสในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ได้อย่างมาก

ทั้งนี้ ในการยื่นของบประมาณปี 2554 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ของบประมาณ 39 ล้านดอลลาร์สำหรับโครงการใหม่เพื่อการพัฒนาเตาปฎิกรณ์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กโดยเฉพาะ สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ