In Focusอุ่นเครื่องศึกเลือกตั้งอังกฤษกับ 3 ผู้สมัคร ก่อนรู้ผล 6 พ.ค.นี้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 7, 2010 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ณ หน้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง กรุงลอนดอน วานนี้ นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษ ซึ่งขนาบข้างซ้าย-ขวาด้วยคณะรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวเรื่องการยุบสภา พร้อมประกาศวันเลือกตั้งเสร็จสรรพเป็นวันที่ 6 พฤษภาคมนี้

ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่นายบราวน์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ณ พระราชวังบัคกิงแฮมเป็นเวลาประมาณ 20 นาทีในช่วงเช้า เพื่อทูลเกล้าฯขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยุบสภาในวันที่ 12 เมษายน 2553 ซึ่งถือเป็นการลั่นระฆังเปิดฉากการหาเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเป็นระยะเวลา 1 เดือนเต็มนับจากนี้

และเพื่อเป็นการอุ่นเครื่องในขณะที่พรรคการเมืองอังกฤษเริ่มเดินหน้าแคมเปญหาเสียง คอลัมน์ In Focus ขอนำผู้อ่านทำความรู้จักผู้สมัครและข้อมูลพื้นฐานเล็กๆน้อยเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศแม่แบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy)

ระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งของอังกฤษ

  • รัฐสภาอังกฤษแบ่งออกเป็น สภาสามัญชน (House of Commons) และสภาขุนนาง (House of Lords) อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงการยุบสภา จะหมายถึงสภาสามัญชน โดยเมื่อมีการประกาศยุบสภา ก็จะทำให้ที่นั่งในสภาสามัญชนว่างลง ซึ่งนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด
  • การเลือกตั้งของอังกฤษเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละหนึ่งคน โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละเขตเลือกตั้งจะได้เป็นสมาชิกรัฐสภา (Member of Parliament — MP) ซึ่งประกอบด้วย 650 ที่นั่ง และพรรคการเมืองที่ได้จำนวนที่นั่งส่วนใหญ่ (majority) ในสภาสามัญชนมักจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างน้อย (minority) จะเป็นฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่มีพรรคใดได้รับเสียงข้างมาก พรรคการเมืองที่มีเสียงส่วนน้อยก็อาจได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หรือที่เรียกว่า Hung Parliament
  • ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปแต่ละครั้ง สภาสามัญชนจะมีวาระการทำงานสมัยละ 5 ปี อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีอาจทูลเกล้าฯขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตยุบสภาก่อนครบวาระ และจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนครบกำหนดได้ หรือ รัฐสภาอาจมีวาระการทำงานนานกว่า 5 ปีได้ หากเกิดภาวะฉุกเฉิน
  • โดยทั่วไป การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกำหนดให้มีขึ้นที่คูหาเลือกตั้งทั่วประเทศ แต่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอาจยื่นขอลงคะแนนทางไปรษณีย์ได้ อาทิ พลเมืองอังกฤษที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศไม่เกิน 15 ปี
  • การเลือกตั้งครั้งหลังสุดของอังกฤษเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2548 ซึ่งนายโทนี่ แบลร์ ชนะการเลือกตั้งและสร้างประวัติศาสตร์เป็นหัวหน้าพรรคแรงงานคนเดียวที่ชนะการเลือกตั้งได้ 3 สมัยติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม คะแนนที่พรรคได้รับลดลงจากสมัยแรกและสมัยที่สอง โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงการที่แบลร์สนับสนุนสหรัฐในการนำทหารบุกเข้าทำสงครามในอิรัก ทั้งนี้คะแนนนิยมของแบลร์ตกลงเรื่อยๆ จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2550 เขาจึงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และพ้นจากเก้าอี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 27 มิ.ย. 2550 โดยมีนาย กอร์ดอน บราวน์ สืบทอดตำแหน่งแทน

รู้จักผู้สมัครคนสำคัญ

ที่ผ่านมา การเลือกตั้งของอังกฤษเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคการเมืองใหญ่และเก่าแก่สองพรรค (สืบทอดมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920) ได้แก่ พรรคแรงงาน (Labour Party) และพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) อย่างไรก็ดี ยังมีพรรคขนาดรองอีกจำนวนหนึ่งซึ่งในบรรดาพรรคเหล่านี้ พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats) ถือเป็นพรรคที่มีความสำคัญและมีบทบาทพอตัวในแวดวงการเมืองของอังกฤษ

เราลองมาทำความรู้จักประวัติความเป็นมาคร่าวๆของหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งสามเพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนที่ศึกเลือกตั้งจะระเบิดขึ้นในเดือนหน้า

กอร์ดอน บราวน์ หัวหน้าพรรคแรงงาน

บราวน์เกิดที่สกอตแลนด์ในปีพ.ศ. 2494 (ปัจจุบันอายุ 59 ปี) หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิชาประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ เขาก็ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานเป็นนักข่าวโทรทัศน์ ก่อนที่จะผันตัวเข้าสู่แวดวงการเมือง โดยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภามาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2526

ในระหว่างปี 2540 - 2550 บราวน์ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง (Chancellor of the Exchequer) ในรัฐบาลของนายโทนี แบลร์ ทำให้เขากลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากพรรคแรงงานที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลายาวนานที่สุด และเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับแต่นาย นิโคลาส แวนซิตทาร์ต (พ.ศ. 2355 - 2366) โดยในช่วงเวลา 10 ปีที่บราวน์นั่งเก้าอี้ขุนคลังอังกฤษนั้น เขาได้สร้างผลงานโดดเด่น ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างนโยบายการเงินและการคลังของอังกฤษ ซึ่งทำให้ธนาคารอังกฤษเป็นหน่วยงานอิสระ และมีอำนาจในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่โอนหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการกำกับดูแลภาคการธนาคารให้แก่ Financial Services Authority

และแล้วโอกาสสำคัญของบราวน์ก็มาถึง เมื่อเขาได้รับมอบหมายให้สืบทอดตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงานและหัวหน้ารัฐบาลในเดือนมิ.ย.2550 หลังจากที่นายแบลร์ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญบนเส้นทางการเมืองของบราวน์ เนื่องด้วยจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของเขาในฐานะหัวหน้าพรรคแรงงาน นอกจากนี้ ยังถือเป็นสนามสอบสุดหิน ท่ามกลางปัญหายอดขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะที่พุ่งทะยานของรัฐบาล

อย่างไรก็ดี บราวน์ยืนยันว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคแรงงานกำลังเดินมาถูกทางในการนำพาเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยที่ยาวนานและเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และเขาก็ขอให้ประชาชนโหวตเลือกพรรคแรงงานเป็นสมัยที่ 4 เพื่อการทำงานที่ต่อเนื่องของรัฐบาล

เดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม

คาเมรอนเกิดในปีพ.ศ. 2509 (ปัจจุบันอายุ 44 ปี) เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมตั้งแต่เดือนธ.ค.2548 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงพรรคและประเทศ

คาเมรอนสำเร็จการศึกษาด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 หลังเรียนจบ เขาได้ทำงานที่ Conservative Research Department ของพรรคอนุรักษ์นิยม และในปีพ.ศ. 2535 เขาก็ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษในรัฐบาล โดยเริ่มจากเป็นที่ปรึกษานายนอร์แมน ลามอนท์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรมว.คลังอยู่ในขณะนั้น จากนั้นจึงได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาในกระทรวงมหาดไทย

ต่อมา คาเมรอนได้ร่วมงานกับ Carlton Communications ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทสื่อชั้นนำของอังกฤษเป็นเวลาถึง 7 ปี ในฐานะผู้บริหารฝ่ายประชาสัมพันธ์ และดำรงตำแหน่งบอร์ดบริหารของบริษัท

คาเมรอนตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในปีพ.ศ.2540 แม้ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งแรก แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ จนได้รับเลือกตั้งเป็น MP ในที่สุดเมื่อปีพ.ศ. 2544 พร้อมกับเส้นทางการเมืองที่พุ่งแรง เมื่อเขาก้าวสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมในปีพ.ศ. 2548

สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้นนี้ คาเมรอนปฏิญาณว่า พรรคอนุรักษ์นิยมจะนำ "ความหวัง การมองโลกในแง่ดี และการเริ่มต้นใหม่" มาสู่ประชาชนชาวอังกฤษ

นิค เคลกก์ หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย

เคลกก์เกิดในปีพ.ศ.2510 (ปัจจุบันอายุ 43 ปี) เขาสำเร็จการศึกษาด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมินนีโซตา และ คอลเลจ ออฟ ยุโรป ในเมืองบรูจประเทศเบลเยียม

เขาเข้าทำงานที่คณะกรรมธิการยุโรป (European Commission) เป็นระยะเวลา 5 ปี จนกระทั่งในปีพ.ศ.2542 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภายุโรปประจำภาคมิดแลนด์ตะวันออก (Member of the European Parliament for the East Midlands) ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจากพรรคเสรีประชาธิปไตยคนแรกในภาคดังกล่าวนับตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1930

จากนั้น เคลกก์ชนะการเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาอังกฤษในปีพ.ศ. 2548 และเป็นหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยในเดือนธ.ค.2550 ด้วยการชูนโยบายที่จะทำให้พรรคได้รับความสนใจจากผู้มีสิทธิลงคะแนนครั้งแรก

โดยวานนี้ เคลกก์ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวอย่างมาดมั่นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ใช่การขับเคี่ยวชิงชัยกันระหว่างพรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยมเท่านั้น เนื่องจากประชาชนชาวอังกฤษกำลังเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง

"การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นทางเลือกระหว่างการเมืองแบบเก่าของสองพรรคเก่า และสิ่งใหม่ที่แตกต่างออกไปซึ่งพรรคเสรีประชาธิปไตยขอนำเสนอ"

การเลือกตั้งในวันที่ 6 พ.ค.นี้ จะเป็นครั้งแรกที่ บราวน์ คาเมรอน และเคลกก์ สวมบทแม่ทัพนำลูกพรรคของตนลงสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2548 นั้น ทั้งสามไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

นอกจากนี้ การเลือกตั้งในปี 2553 นี้ยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การหาเสียงเลือกตั้งของอังกฤษ เมื่อหัวหน้าพรรคการเมืองหลักทั้งสามจะได้ขึ้นเวทีดวลนโยบายต่อหน้าประชาชนทั้งประเทศผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ สิริรวม 3 ครั้ง ได้แก่วันที่ 15 22 และ 19 เมษายน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยให้ชาวอังกฤษตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะเลือกใคร

แต่กว่าจะถึงวันนั้น สื่อผู้ดีไม่รอช้าขอวัดคะแนนนิยมของทั้ง 3 พรรค ซึ่งผลการสำรวจคะแนนนิยมล่าสุดนั้น ปรากฏว่าพรรคอนุรักษ์นิยมยังคงมีคะแนนนำ โดยโพลล์ของนสพ.เดอะ ซัน ซึ่งจัดทำโดย YouGov เผยว่า พรรคอนุรักษ์นิยมมีคะแนนอยู่ที่ 41% และพรรคแรงงานมีคะแนนตามมาที่ 31% ส่วนพรรคเสรีประชาธิปไตยมีอยู่แค่ 18%

ขณะที่โพลล์ของนสพ.เดอะ การ์เดียน ซึ่งจัดทำโดย ICM ระบุว่า พรรคอนุรักษ์นิยมมีคะแนนนำพรรคแรงงานอยู่เช่นกัน แต่ทิ้งห่างไม่มากนักที่ 37% และ 33% ตามลำดับ ส่วนพรรคเสรีประชาธิปไตยยังคงรั้งท้ายที่ 21%

ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า จนถึงตอนนี้ ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ยังไม่ปักใจเชียร์ใครเป็นพิเศษ แต่เชื่อแน่ว่า ไม่ต้องรอให้ถึงวันที่ 6 พ.ค. ชาวอังกฤษคงเห็นตรงกัน ไม่ว่าใครแพ้หรือชนะ คงไม่สำคัญ ตราบใดที่ประเทศชาติเป็นฝ่ายชนะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ