นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีรวม 12 คน เปิดแถลงข่าวด่วนในเย็นวันนี้ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดพิเศษที่มีขึ้นในช่วงบ่ายวันนี้มีมติให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีผลบังคับใช้ทันที เนื่องจากการชุมนุมมีการกระทำผิดกฎหมายมากขึ้นและก่อให้เกิดความไม่สงบภายในประเทศ
"แม้รัฐบาลดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างดีที่สุดแล้ว แต่กลับปรากฎว่ามีการขัดขืน มีการพัฒนาความเคลื่อนไหวในลักษณะผิดกฎหมายมากยิ่งขึ้น ได้มีการขัดขืนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย และวันนี้มีการบุกรุกสถานที่สำคัญคือรัฐสภา"นายอภิสิทธิ์ กล่าวในการแถลงข่าว
การประกาศดังกล่าวนั้นรัฐบาลมุ่งหวัง 4 ประการ คือ คืนความปกติสุขให้กับบ้านเมือง , ระงับการบิดเบือนข่าวสารที่มีการปลุกปั่นยุยงให้กระทำผิดกฎหมาย, ดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม และป้องกันเหตุวินาศกรรมที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่าไม่ต้องการมุ่งร้ายปราบปรามประชาชน แต่จะทำตามกรอบกฎหมายและเป็นไปตามหลักสากล
สำหรับพื้นที่ที่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, จ.นนทบุรี, จ.สมุทรปราการ(อ.เมือง, อ.บางพลี, อ.พระประแดง, อ.พระสมุทรเจดีย์, อ.บางบ่อ, อ.บางเสาธง), จ.ปทุมธานี (อ.ธัญบุรี, อ.ลาดหลุมแก้ว, อ.สามโคก, อ.ลำลูกกา, อ.คลองหลวง), จ.นครปฐม (อ.พุทธมณฑล) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.วังน้อย, อ.บางปะอิน, อ.บางไทร, อ.ลาดบัวหลวง) โดยให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
"กฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลสามารถบรรลุภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ไม่ได้มุ่งหมายจะปราบปรามหรือทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายอภิสิทธ์ ย้ำว่า เหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชนจากคนกลุ่มหนึ่งซึ่งต้องได้รับการแก้ไข ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าการกระทำที่ผิดกฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนทุกคนในประเทศ ดังนั้น ขอให้ประชาชนละเว้นการเข้ามาร่วมชุมนุมที่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี
พร้อมกันนี้ยังให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ โดยมี รมว.กลาโหม เป็นรองผู้อำนวยการฯ มีปลัดกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ รวมทั้งให้ข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ
สำหรับหน้าที่ของ ศอฉ.ประกอบด้วย 1.ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กฎหมายที่โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีหรือกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีรักษาการ และประกาศของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้เท่าที่จำเป็นในการปฏิบัติงานให้สถานการณ์ฉุกเฉินยุติลง
2.จัดโครงสร้างขององค์กรให้เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ และจัดให้มีหน่วยงานหรือศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อเป็นองค์กรปฏิบัติการได้ตามที่เห็นสมควร 3.ดำเนินการด้านการข่าวและต่อต้านข่าวกรองที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบและที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
4.ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาล ประชาชน และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบรวมทั้งปฏิบัติการจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง 5.จัดกำลังตำรวจ ทหาร และพลเรือนดำเนินการตามแผนรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่ราชการต่างๆ รวมทั้งประสานให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่นั้นๆ ป้องกันตนเองตามความสามารถเป็นอันดับแรก
6.จัดชุดปฏิบัติการจากตำรวจ ทหาร และฝ่ายพลเรือนเข้าระงับการก่อความไม่สงบและช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน 7.มอบหมายให้ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนกำลังพล งบประมาณ วัสดุครุภัณฑ์ ยานพาหนะ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
8.เรียกให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ชี้แจง ให้ข้อมูลข่าวสาร จัดส่งเอกสารหรือดำเนินการอื่นใดตามที่เห็นสมควร 9.แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ตามความจำเป็น และ 10.ดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย