เอแบคโพลล์เผย ปชช.ส่วนใหญ่มองเสื้อแดงชุมนุมเป็นเกมแย่งชิงอำนาจการเมือง

ข่าวการเมือง Friday April 9, 2010 11:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยประชาชนส่วนใหญ่มองการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นเกมแย่งชิงอำนาจทางการเมือง

"ความคิดเห็นต่อสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมพบว่าตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 53.5 เห็นว่าเป็นเกมแย่งชิงอำนาจทางการเมือง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ผลสำรวจยังพบประเด็นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 41.2 อยากให้การชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ รองลงมาร้อยละ 16.0 อยากให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และร้อยละ 15.2 อยากให้นำไปสู่การแก้ไขความไม่เป็นธรรมในสังคม แต่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.0 เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์น้อยจนถึงไม่ได้อะไรเลยจากการชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้ ขณะที่ร้อยละ 20.9 เห็นว่าจะได้ประโยชน์บ้างปานกลาง และร้อยละ 19.1 เห็นว่าจะได้ประโยชน์มากถึงมากที่สุด

นายนพดล กรรณิการ์ ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า จากการวิจัยทั้งในอดีตและครั้งล่าสุดนี้ชี้ให้เห็นว่า การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านบรรดาแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมมักจะประสบความสำเร็จในการนำประชาชนออกมาได้จำนวนมาก แต่มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จที่จะบรรลุเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายสาธารณะแก้ปัญหาสำคัญของประชาชนได้ จะเห็นได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่มองเห็นผลเสียของการชุมนุมมีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่มองเห็นผลดีที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับ การแสดงออกทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยด้วยการชุมนุมในอนาคตจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและเสียงสะท้อนความรู้สึกของประชาชน เช่น จะต้องเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การลดความแตกแยกของคนในชาติ นำไปสู่ความเป็นธรรมในสังคม นำไปสู่การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน แต่ผลสำรวจล่าสุด ประชาชนเกินครึ่งมองว่าการเคลื่อนไหวชุมนุมเป็นเพียงเกมแย่งชิงอำนาจทางการเมือง

"สาธารณชนส่วนใหญ่ของประเทศจึงไม่ให้การสนับสนุนการชุมนุมที่นำไปสู่ความวุ่นวายและไม่ทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อความดีส่วนรวมของประชาชนทั้งประเทศ" นายนพดล กล่าว

สำหรับผลสำรวจเอแบคเรียลไทม์โพลล์(Real-Time Survey) เรื่อง ความคิดเห็นต่อการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา สำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างใน 17 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 1,647 ครัวเรือน เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ