กลุ่มคณาจารย์ 303 คน จาก 14 สถาบัน ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมือง เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลงในทางที่ดี โดย
1.ขอรัฐบาลต้องจัดตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลาง โดยเสนอให้แต่งตั้งจาก บุคคล 4 ฝ่าย คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์หลักฐาน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมฝูงชน และ ตัวแทนจากกลุ่มนักวิชาการ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการยุบสภา ทำหน้าที่ในการสอบสวนข้อเท็จจริงและรายงานต่อประชาชน โดยเร็วที่สุด โดยในขั้นต้นต้องรายงานผลได้ภายใน 24 ชม. และทุกๆวัน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดี
2.การรักษากฎหมายของบ้านเมือง ยังจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนั้นผู้ชุมนุมควรเลิกกระทำการในสิ่งที่ผิดกฎหมาย เช่น การขยายสถานการณ์ความรุนแรง และถอนตัวจากพื้นที่แยกราชประสงค์กลับคืนมาที่สะพานผ่านฟ้า หรือยุติการชุมนุมชั่วคราว เพื่อให้ประเทศมีโอกาสพักฟื้นจากภาวะที่บอบช้ำ นอกจากนี้การใช้กระบวนการควบคุมฝูงชนไม่ควรทำหลังจากเวลา 17.30 น. เนื่องจากเมื่อเป็นเวลากลางคืน การควบคุมสถานการณ์ต่างๆจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก
3.ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนมีการเสนอข่าวที่เป็นกลางในการนำเสนอข้อเท็จจริง การใช้สรรพนามในการเรียกแต่ละฝ่ายไม่ควรใช้คำว่า “ฝ่ายทหาร ประชาชน หรือผู้ก่อความไม่สงบ"ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกในทางลบต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือการเสนอข่าวจากมุมมองเดียวซึ่งนำไปสู่การเข้าใจผิดและสร้างความไม่พอใจได้
4.ขอเรียกร้องให้มีการเปิดโต๊ะเจรจายุติศึกชั่วคราว เพื่อเจรจาในเฉพาะประเด็นการร่วมกันคลี่คลายสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยรัฐมีข้อเสนอเพียงให้ย้ายที่ชุมนุมไปสะพานผ่านฟ้าและ นปช. มีข้อเสนอเพียงการยกเลิก สถานการณ์ฉุกเฉินและยกเลิกหมายจับแกนนำไม่จำเป็นต้องเจรจาเรื่องอื่นซึ่งยากจะได้ข้อยุติ
5.ในการประสานให้เกิดการเจรจา กลุ่ม 303 คณาจารย์ ยินดีเป็นคนกลางในการประสานกับทุกฝ่าย โดยขอเรียกร้องให้ กลุ่ม 155 นักวิชาการที่เสนอให้ยุบสภาใน 3 เดือน เข้ามาร่วมกันในการประสานให้เกิดการเจรจา ซึ่งหากเห็นร่วมกันจะได้นัดหมายให้มีการเจรจาโดยเร็ว
ทั้งนี้ทางกลุ่มคณาจารย์ 303 คน ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวที่มีผู้สูญเสียจากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ และรู้สึกสลดใจต่อเหตุการณ์วิปโยคที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันข่าวสารข้อมูลและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลฝ่ายต่างๆในสังคมทำให้เกิดความสับสน และการกล่าวโทษซึ่งกันและกันว่า ฝ่ายใดสมควรรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหากยังไม่สามารถสร้างความชัดเจนต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว หรือหาทางคลี่คลายสถานการณ์อย่างเหมาะสมแล้ว การบานปลายของเหตุการณ์อาจนำไปสู่ความสูญเสียรอบสองซึ่งอาจยิ่งใหญ่มากกว่าเดิมได้