ธุรกิจส่งออกห่วงการเมืองถอยหลังลงคลองซ้ำเติมบาทแข็ง แนะหันหน้าหาทางออก

ข่าวการเมือง Monday April 12, 2010 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ส่งออกสินค้าไทย ระบุขณะนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงทางการเมืองไทยเท่ากับค่าเงินบาทที่แข็งค่า เนื่องจากการชุมนุมยังไม่ได้มีการปิดหรือขัดขวางเส้นทางการขนส่ง แต่เชื่อว่ามีผลกระทบทำให้นักธุรกิจที่ตั้งใจจะเข้ามาเจรจาการค้าสะดุดไป พร้อมมองเหตุการเมืองครั้งนี้รุนแรงกว่าปีที่แล้ว แนะหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมหาทางออก มองการเมืองไทยถอยหลังลงคลอง

นางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า การส่งออกข้าวไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หากไม่มีการปิดท่าเรือ หรือปิดถนนที่จะมุ่งเข้าสู่ท่าเทียบเรือ

"การเมืองไม่ค่อยส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย เพราะของเราไม่ค่อยเกี่ยว ตราบใดที่ไม่มีการปิดท่าเรือ ไม่มีการปิดถนนที่จะมุ่งสู่ท่าเทียบเรือ รถบรรทุกวิ่งไม่ได้ ถ้าโลจิสติกเคลื่อนไม่ได้ล่ะก็ ส่งออกมีปัญหาแน่นอน แต่ใครจะตีกับใคร เปลี่ยนพรรครัฐบาล ไม่มีผลต่อส่งออกเท่าไหร่ อีกอย่างที่จะมีผลต่อการส่งออกข้าวคือ เงินบาทแข็ง ซึ่งระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ตอนนี้ถือว่าแข็งค่าเกินไป"

นางสาวกอบสุข กล่าวว่า การเมืองตอนนี้ไม่มีผลต่อการส่งออกข้าวไทยเท่ากับตั้งแต่ก่อนจะเกิดปัญหาการเมืองที่ราคาข้าวตกต่ำ ทั้งราคาในประเทศและราคาส่งออก ตลาดต่างประเทศก็ซบเซา ปัจจุบันราคาส่งออกข้าวขาว 5% อยู่ที่ประมาณ 450-470 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจากระดับ 500 เหรียญสหรัฐ/ตันในช่วงต้นปี

แต่ถึงราคาจะลดลงแต่ข้าวไทยก็ยังแพงกว่าเวียดนามอยู่ดี โดยปัจจุบันราคาส่งออกข้าวของเวียดนามอยู่ที่ 360 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจาก 420 เหรียญสหรัฐ/ตันเมื่อตอนต้นปี

"ราคาส่งออกลดลงมาก็จริง แต่ตลาดยังซบเซาอยู่เพราะที่อื่นราคาส่งออกก็ตกลงเหมือนกัน เพราะตอนนี้ตลาดฝืด เพราะตลาดใหญ่คือแอฟริกา ผลผลิตออกมาค่อนข้างดีมาก รวมถึงพวกธัญพืชอื่นๆ ความต้องการข้าวก็เลยน้อย....พูดง่ายๆ คือ ถึงไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาส่งออกข้าวไทยก็แย่อยู่แล้ว"

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ไตรมาส 2 ของปีนี้ การส่งออกข้าวอาจจะไม่ดีเท่ากับไตรมาสแรกที่ไทยยังสามารถรักษาตัวเลขการส่งออกได้ใกล้เคียงกับ 3 เดือนแรกของปี 52 เนื่องจากไตรมาส 2 มีวันหยุดตามเทศกาลเยอะ

ช่วง ม.ค.-มี.ค.53 ไทยยังส่งออกข้าวได้ใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คือ ประมาณ 2 ล้านตัน และคาดว่าเป้าหมายส่งออกข้าวไทยปี 53 ที่ 9 ล้านตันถ้วนน่าจะยังทำได้ ยังไม่มีการปรับเป้าหมายการส่งออกแต่อย่างใด แต่มูลค่าการส่งออกอาจลดลง 20% จาก 1.5-1.6 แสนล้านบาทในปี 52 หากราคา FOB ยังคงที่เบบนี้ แต่หากกลางปีหรือปลายปีมีเรื่องความแห้งแล้งเข้ามา หรือราคาน้ำมันแพง ราคา FOB ก็จะขยับขึ้นตาม อาจจะช่วยพยุงมูลค่าการส่งออกข้าวไม่ให้ปรับตัวลดลงไปมาก

ปัจจุบันราคา FOB ข้าวขาว 5% อยู่ที่ 450-480 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปรับตัวลดลงจากระดับราคาประมาณ 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน

"เรายังคงตัวเลขเป้าการส่งออกที่ 9 ล้านตันไว้ ถ้าจะปรับคงต้องรอดูตอนผ่านครึ่งปีแรกไปแล้ว คือ ตอนนี้เรารู้ว่าออเดอร์น้อย แต่ยังไม่เห็นผลกระทบที่ชัดเจน แต่หากกลางปีมีปัญหาเรื่องความแห้งแล้งเข้ามาอีก ก็มีความเป็นไปได้ที่การส่งออกข้าวไทยอาจจะทำได้ถึง 9.5 ล้านตัน"นางสาวกอบสุข กล่าว

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์และกรรมการสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์" ว่า การส่งออกกุ้งแช่เยือกแข็งยังเติบโตดีอยู่ ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง

เนื่องจากโดยทั่วไป ปัจจัยการเมืองไม่ค่อมีผลต่อการส่งออกอาหารแช่เยือกแข็งของไทยเท่าไหร่อยู่แล้ว แต่ปัจจัยที่จะมีผลมากคือ วัตถุดิบ มีหรือไม่มี ราคาวัตถุดิบ ค่าเงินบาท และแรงงาน เนื่องจากการทำโรงงานอาหารประเภทนี้จะมีปัญหาเรื่องกลิ่น ที่แรงงานไทยไม่ค่อยอยากทำเท่าไหร่

"เงินบาทระดับ 32 บาท/ดอลลาร์นี้ถือว่าแข็งไป ผมว่าเคลื่อนไหวในระดับ 33.00-33.50 บาท/ดอลลาร์กำลังดี"นายพจน์ กล่าว

ทั้งนี้ ปี 53 ตั้งเป้าการส่งออกกุ้งแช่เยือกแข็ง น่าจะโตขึ้นประมาณ 10% จาปี 52 ที่มูลค่าการส่งออกกุ้งแช่เยือกแข็งอยู่ที่ 8.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งโตขึ้นจากปี 51 ประมาณ 10% เป็นผลจากคู่แข่งสำคัญคือเวียดนามและอินโดนีเซียเจอปัญหาเรื่องไวรัสในกุ้งทำให้ขาดแคลนผลผลิต ถือว่าเป็นข่าวดีของไทยที่จะอาศัยช่องว่างทางการตลาดนี้ ขยายตลาดส่งออกทั้งตลาดเก่าและตลาดใหม่ที่คู่แข่งมีปัญหาการส่งออก

"เราทำได้อยู่แล้ว เพราะเรามี Food Safety ที่ดีกว่าด้วย"นายพจน์ กล่าว

ปัจจุบัน ตลาดส่งออกที่สำคัญของกุ้งแช่เยือกแข็งของไทย คือ สหรัฐอเมริกาประมาณ 50% ญี่ปุ่น 25% ที่เหลือคือ ยุโรปและออสเตรเลีย

ขณะที่เวียดนามส่งออกไปยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนอินโดนนีเซีย ตลาดส่งออกสำคัญคล้ายๆ กับไทย

*แนะทุกฝ่ายยอมถอยคนละก้าว-ลดทิฐิ,วอนฟังเสียงภาคเอกชนบ้าง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีอะไรที่จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรมากมายนัก อาจเป็นเพราะช่วงนี้มีวันหยุดยาว จึงอาจจะยังมองไม่เห็นผลกระทบชัดเจน แต่ที่แน่ๆ นักธุรกิจที่ตั้งใจจะเข้ามาเจรจาการค้าก็คงสะดุดไปหมด

แต่หากปัญหาการเมืองลากยาวไปเรื่อยๆ ปีนี้ทั้งปี จะเกิดผลกระทบแน่นอน โดยเพาะการท่องเที่ยวไม่รู้จะสูญเสียรายได้กี่หมื่นกี่แสนล้าน เพราะสงกรานต์ปีนี้รุนแรงกว่าปีที่แล้วมาก

"ผมว่าทางออกตอนนี้คือต้องถอยคนละก้าว และต้องคุยกัน แต่ที่นายกฯของยุบสภา 9 เดือนอาจจะนานไป อาจจะร่นระยะเวลาลงเหลือ 3 เดือนหรืออะไรก็ว่าไป และทุกอย่างต้องจบ ที่สำคัญต้องมีการเจรจารอบใหม่ เพราะไม่มีทางเลือกอื่นเลย แต่การขอคืนพื้นที่ เหมือนผึ้งแตกรัง ก็จะมีการก่อวินาศกรรม ทำอะไรกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ดีต่อประเทศ"นายชูเกียรติ กล่าว

นายชูเกียรติ กล่าวว่า อยากให้มีการเชิญภาคธุรกิจเอกชนเข้าไปร่วมกันคิด ร่วมกันเจรจาหาทางออกด้วยก็ได้ เพราะตอนนี้นักธุรกิจภาคเอกชนต้องการแสดงความคิดเห็นกันมาก

"อยากให้มีการเชิญภาคเอกชนเข้าไปร่วมเจรจาหาทางออกบ้าง อยากให้มีมากๆ จะได้ฟังความเห็นพวกเราบ้าง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้พวกเราอึดอัด อยากจะบอกว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำให้ประเทศชาติไม่เสียหายมากกว่า ต้องลืมเรื่องของตัวเอง อย่างน้อยสุดจุดยืนของแต่ละคนต้องถอยบ้าง เพื่อให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้ การเมืองบ้านเราถอยหลังลงไปทุกที เห็นแก่ผลประโยชน์พรรค ผลประโยชน์ตัวเอง สลับฝ่ายสลับข้างกันแบบนี้ก็ไม่มีวันจบ"นายชูเกียรติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ขณะที่นายพจน์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องมีสติ ทุกคนต้องใช้สติ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำกันอย่างขาดสติ

"ต้องลด "อัตตา" รู้จักคำว่า "อัตตา"มั้ย ภาษาพุทธแปลว่า "ตัวกูของกู"ที่สำคัญคือ อำนาจโดยทั่วๆไป ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อหรอก อย่าให้กงล้อประวัติศาสตร์กลับมาอีกเลย"นายพจน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเจรจายังควรมีอยู่ เพราะถ้าไม่มีการเจรจาก็คงมีแต่สูญเสียต่อไป แต่อย่างที่บอกต้องใช้สติ มาเจรจา มาพูดคุยกัน ส่วนต้องมีคนกลางหรือไม่ นายพจน์ กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องที่เกิดเป็นปัญหาของชาติไปแล้ว ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการการช่วยกันแก้ไข ใครที่มีวุฒิภาวะ หรือมีอำนาจก็ต้องมาร่วมเจรจากัน

"จริงๆ เอาใครมาคุยก็ได้ แต่ถ้าไม่เปิดใจที่จะแก้ปัญหาก็เหนื่อย"นายพจน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ