นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ โดยยังยืนยันว่าการยุบสภาในขณะนี้ไม่ได้ช่วยแก้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและไม่ได้ทำให้ปัญหายุติ แต่สิ่งที่จะต้องทำเป็นลำดับแรกคือ การรักษานิติรัฐในการบังคับใช้กฎหมายให้ได้
จากนั้นการดำเนินการส่วนต่อไปคือการสร้างบรรยากาศสังคมที่ดีและวางกติกาที่เป็นที่ยอมรับ ก่อนจะไปสู่การแก้ปัญหาการเมือง ซึ่งอาจจะเป็นการตัดสินใจเลือกยุบสภาหรือลาออกก็ได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่รัฐบาลจะทำสองสิ่งแรกให้เสร็จสิ้นก่อน โดยมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ เพราะรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอยู่แล้ว
นายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่าที่ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจแก้ไขปัญหาทางการเมืองด้วยวิธีการยุบสภาหรือลาออก เพราะเชื่อว่ายังมีคนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และรัฐบาลต้องการทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติรัฐ อีกทั้งมองว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในขณะนี้ ก็ยังไม่สามารถทำให้ความแตกแยกในสังคมหมดไปได้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลจะยังเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่อไป
อย่างไรก็ดี จากที่ขณะนี้มีความพยายามที่จะก่อการร้ายหรือหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายการเมือง และฝ่ายความมั่นคงจะต้องเข้ามาดูแล เพราะหากถามว่ายุบสภาตอนนี้ทุกคนคงไม่เห็นด้วย แต่ไม่ปฏิเสธหากทุกคนยอมรับในกติกา ทำบรรยากาศบ้านเมืองที่ดีให้นำไปสู่การเลือกตั้งได้ การยุบสภาก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต
"สรุปง่ายๆ ในการตัดสินใจที่จะมีการยุบสภาหรือลาออก คงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ สิ่งหนึ่งที่ประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการจำนนต่อข้อเรียกร้อง เพราะจะทำให้สูญเสียความเป็นนิติรัฐ และการเปลี่ยนแปลงในขณะนี้คงไม่สามารถทำให้ความแตกแยกหมดไปได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนการแก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงนั้น รัฐบาลไม่ต้องการขีดกรอบเวลาให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาขณะนี้ เพราะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบาก แต่ทั้งนี้ไม่ว่าเจ้าหน้าที่หรือรัฐบาลเองต่างไม่มีใครต้องการให้เกิดความยืดเยื้อ เพราะรู้ดีว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อจะยิ่งมีแรงกดดันต่อรัฐบาลมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมั่นใจว่าในขณะนี้รัฐบาลจะสามารถรับมือกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า สถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศขยายพื้นที่การบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไปยังจังหวัดอื่นๆ ส่วนสถานการณ์ในกทม.ขณะนี้จะมีความจำเป็นต้องประกาศกฎอัยการศึกหรือไม่นั้น ผู้ที่มีอำนาจจะตัดสินใจคือกองทัพ และยืนยันว่าพื้นที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น รัฐบาลจะไม่ยอมให้มีการชุมนุมเคลื่อนไหวอย่างเด็ดขาด
"ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องขยายพื้นที่ไปยังต่างจังหวัด แต่ทาง กอ.รมน.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด" นายกรัฐมนตรี กล่าว
สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความแตกต่างทั้งในเชิงหนักและเบากับสถานการณ์ในช่วงที่มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยสิ่งที่ถือว่าหนักหนา คือ ความพร้อมในการนำอาวุธมาต่อสู้ และสภาพพื้นที่ในการเคลื่อนไหวที่ยากลำบาก เพราะอยู่ในใจกลางเมือง แต่กลับมีการนำอาวุธสงครามมาใช้ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนไม่เห็นด้วย
ส่วนสิ่งที่คิดว่าไม่น่าจะหนักหนา คือ ยังมั่นใจว่าขณะนี้การตัดสินใจของประชาชนที่เข้าไปร่วมกับการชุมนุมโดยที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายนั้นถือว่ามีจำนวนน้อยที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง และทุกฝ่ายในสังคมต่างพยายามช่วยเหลือแยกแยะประชาชนออกมาจากกลุ่มก่อการร้าย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงถึงความพยายามที่จะขอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เสียงสะท้อนของสังคมมีความชัดเจนแล้วว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นความพยายามในการดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง
"ผมเชื่อว่าเสียงสะท้อนจากสังคมน่าจะตรงกัน ว่าไม่เหมาะสมในความพยายามที่จะดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับทางการเมือง เป็นสิ่งซึ่งหลายคนคลางแคลงใจในเจตนาของผู้พูด เท่ากับว่าขณะนี้ทั้ง 2 ท่าน(พล.อ.ชวลิต และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) เป็นหัวหน้าของกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมด" นายกรัฐมนตรี ระบุ
พร้อมกันนี้ ยังเรียกร้องให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง เพราะมีความพยายามที่จะเชื่อมโยงให้เกิดความสับสนหรือชี้นำบางสิ่งบางอย่าง จึงต้องการให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังและใช้วิจารณญาณในการรับฟังข้อมูลข่าวสาร หรือข้อเสนอ หรือความพยายามจากกลุ่มบุคคลต่างๆ
นายกรัฐมนตรี ยังเชื่อว่า ความพยายามในการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งข้อเรียกร้องในการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงหลายส่วนยังมีความผูกพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น ความพยายามช่วงชิงอำนาจรัฐ หรือบางคำพูด เช่น การสร้างรัฐไทยใหม่ ซึ่งถือว่ายังมีความเชื่อมโยงกันอยู่ แม้จะมีความพยายามออกมาระบุว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในขณะนี้ได้ก้าวข้ามเงื่อนไขของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปแล้ว