นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(ปสน.) ในฐานะประธานคณะกรรมการรวบรวมและประมวลเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง(คปช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คปช.ได้กำหนดแนวทางการรวบรวมและประมวลเหตุการณ์ออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 กับช่วงเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องก่อนและหลังวันที่ 10 เม.ย.โดยช่วงก่อนวันที่ 10 เม.ย.เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.-9 เม.ย.53 และช่วงหลังวันที่ 10 เม.ย.นับจนถึงวันที่รัฐบาลประกาศยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
โดยที่ประชุมฯ ได้มีมติให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ 5 คณะ เพื่อทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลและประมวลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่หลากหลายอย่างถูกต้องครบถ้วน ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการรวบรวมและประมวลข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีนายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ รองปลัด สปน.เป็นประธาน
ทั้งนี้ จากรายงานของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร(กทม.)หรือศูนย์เอราวัณ พบว่า มียอดผู้ป่วยและได้รับบาดเจ็บระหว่างชุมนุมในช่วงแรกรวม 340 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บของกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหารจากเหตุปะทะกันเมื่อวันที่ 10 เม.ย.จำนวน 864 ราย แยกเป็นผู้บาดเจ็บ 839 ราย และผู้เสียชีวิต 25 ราย โดยเป็นพลเรือน 20 ราย ทหาร 5 ราย ซึ่งในเบื้องต้นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ได้ให้ความช่วยเหลือ โดยรับเรื่องจากผู้ที่ได้รับความเสียหายรวม 350 ราย และเยี่ยมปลอบขวัญให้กำลังใจ พร้อมทั้งมอบเงินสงเคราะห์ครอบครัวเบื้องต้นรายละ 2,000 บาท และกระเช้าของขวัญมูลค่า 1,000 บาท แก่ผู้ได้รับบาดเจ็บในโรงพยาบาลต่างๆ รวม 105 ราย
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ยังอนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับการช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค.51 และอนุมัติให้ใช้เงินเหลือจ่ายและกันไว้แล้ว จำนวน 19,752,500 บาท โดยให้เบิกจ่ายเป็นครั้งคราวไป
2.คณะอนุกรรมการรวบรวมและประมวลข้อมูลจากสื่อมวลชนและประชาชนฯ ซึ่งมีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นประธาน 3.คณะอนุกรรมการประมวลความเห็นและทัศนคติจากประชาชนฯ โดยมีปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นประธาน 4.คณะอนุกรรมการรวบรวมและจัดทำรายงานประมวลเหตุการณ์ฯ โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน
และ 5.คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบฯ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน พร้อมกันนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นโฆษกของ คปช.ทำหน้าที่แถลงผลการประชุมฯ ให้ประชาชนได้รับทราบ ส่วนข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านนโยบายของรัฐบาลต้องเสนอนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนมีการให้ข่าวต่อไป