นักวิชาการ มอง พธม.ออกโรงกดดันรัฐบาลสุ่มเสี่ยงเกิดเหตุปะทะ-รัฐประหาร

ข่าวการเมือง Monday April 26, 2010 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการด้านการเมือง มองแนวโน้มเกิดรัฐประหาร หากปล่อยให้กลุ่มประชาชนที่ต่อต้านการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวจนเกิดการปะทะกัน ซึ่งทำให้การพัฒนาประเทศเป็นการถอยหลังลงคลอง ชี้รัฐควรเร่งคลี่คลายสถานการณ์ และขอคืนพื้นที่แยกราชประสงค์โดยเร็ว เพราะยิ่งยืดเยื้อยิ่งสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติ

นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า การที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกลุ่มเสื้อเหลือง ซึ่งเคยเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ออกมาประกาศเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มคนเสื้อหลากสีในการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดการกับกลุ่มคนเสื้อแดง เชื่อว่าจะยิ่งทำให้การคลี่คลายสถานการณ์ยุ่งยากขึ้นไปอีก และจะยิ่งสร้างความแตกแยกในสังคมให้รุนแรงและชัดเจนมากขึ้น ซึ่งคงจะเยียวยาได้ยาก

"ถ้าประชาชนตีกันเองมีรัฐประหารแน่ แต่ถ้ากำลังทหารปราบประชาชนไม่มีรัฐประหาร ที่ยังตัดสินใจทำอะไรไม่ได้เพราะทิฐิและกิเลสมันยังหนาอยู่"นายอัษฎางค์ กล่าว

นายอัษฎางค์ กล่าวว่า หากผู้บริหารคำนึงถึงประเทศชาติอย่างแท้จริงก็เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ แต่หากมีการสลายม็อบคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนการเจรจานั้นต้องไม่ยึดข้อเรียกร้องของตัวเองอย่างสุดโต่ง เพราะคงไม่สามารถทำได้

"น่าจะลงมือปราบ ไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้...ถ้าปล่อยให้ออกมาตีกันเอง ทหารก็คงต้องทำรัฐประหารไม่มีทางอื่น ประเทศจะจมปลักไปอีก 5-6 ปี...ต้องหยุดปัญหาตรงนี้ก่อน ประเทศเสียหายไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว อย่าไปพูดว่ายุบสภาแล้วไม่ได้อะไร อันนั้นมันเห็นแก่ตัว" นายอัษฎางค์ กล่าว

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า การที่กลุ่มพันธมิตรฯ เตรียมจะออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เชื่อว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาลให้ดำเนินการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ดำเนินการกับกลุ่มเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ที่ราชประสงค์มากกว่าที่จะใช้วิธีม็อบชนม็อบ เพราะการนำมวลชนออกมาปะทะกันนั้นสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่สถานการณ์จะรุนแรงบานปลายถึงขั้นเกิดจลาจล

"เชื่อว่าพันธมิตรฯ คงไม่เลือกที่จะเอามวลชนมาปะทะกับมวลชน แต่คงสร้างแรงกดดันแก่รัฐ เป็นกระบวนการที่ทำให้รัฐต้องเร่งดำเนินการอะไรบางอย่าง ซึ่งรัฐได้บทเรียนมาพอสมควรแล้วว่าถ้าใช้ความรุนแรงเกินไปแล้ว สุดท้ายก็ไม่ได้ชนะ และเป็นภาพที่ไม่ดีต่อฝ่ายรัฐบาลเอง ดังนั้นรัฐบาลต้องมีศิลปะในการดำเนินการ"นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า แนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นน่าจะมีอยู่ 3 แนวทาง โดยแนวทางแรก รัฐบาลรอให้สถานการณ์คลี่คลายด้วยตัวเอง โดยประเมินจากที่ว่าการชุมนุมต้องมีต้นทุน ค่าใช้จ่าย ผู้ชุมนุมที่อยู่นานเกินไปอาจไม่มีความพร้อม ถ้าคิดแบบนี้รัฐบาลก็อยู่เฉยๆ อาศัยความอึดในการทำให้อีกฝ่ายอ่อนแรงไปเอง

แนวทางที่ 2 การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งกรณีนี้รัฐบาลได้เปรียบกว่า เพราะมีเจ้าหน้าที่และเครื่องมือที่พร้อมกว่าฝ่ายของผู้ชุมนุม ซึ่งเชื่อว่าแนวทางนี้ผู้ชุมนุมคงจะไม่สามารถต้านทานได้ ส่วน แนวทางที่ 3 การค่อยๆ ทำให้ผู้ชุมนุมอ่อนแรงไป พร้อมกับใช้วิธีผสมผสานกันทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง การให้ญาติพี่น้องชักชวนให้ออกจากที่ชุมนุม และการสร้างบรรยากาศว่าพื้นที่ชุมนุมเป็นพื้นที่อันตราย

นายสมชัย วิเคราะห์ว่ารัฐบาลคงจะไม่เลือกใช้แนวทางที่ 1 เพราะยิ่งเป็นการปล่อยให้มีการขยายพื้นที่ชุมนุม และยกระดับการชุมนุมที่จะยิ่งทำให้ปั่นป่วนมากขึ้น ส่วนแนวทางที่ 2 ก็คงไม่เลือกใช้ เพราะรัฐบาลต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมา หากใช้แนวทางนี้จะเกิดภาพจลาจลและอาจขยายไปยังต่างจังหวัด ซึ่งเป็นการยากที่รัฐบาลจะควบคุมพื้นที่ทั่วประเทศได้

"เชื่อว่าในสถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลจะไม่เลือกใช้แนวทางที่ 2 เพราะจะขาดความชอบธรรม เว้นแต่ใช้แนวทางที่ 1+3 เพื่อทำให้ผู้ชุมนุมทนไม่ไหว เพราะอยู่ไปก็เหนื่อย ต้องยกระดับมาตรการให้รุนแรงขึ้น พอรุนแรงรัฐบาลก็จะเป็นฝ่ายลงมือ ถึงจุดนี้รัฐบาลก็จะมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการ" นายสมชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ยังมีตัวแปรสำคัญที่อยู่เหนือการควบคุมของทั้ง 2 ฝ่าย และต้องน่าจับตาเป็นอย่างมากนั่นคือ ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ซึ่งจะเป็นตัวแปรทำให้สถานการณ์เปลี่ยนได้ เพราะหากประชาชนอึดอัดทนไม่ไหวอาจจะออกมาปะทะด้วยตัวเอง เช่น กรณีเหตุการณ์ที่สีลม และปทุมธานี ซึ่งจะเป็นตัวแปรเข้ามาแทรกทำให้แผนการของแต่ละฝ่ายที่วางไว้อาจไม่เป็นไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ