(เพิ่มเติม) นายกฯ ระบุไม่จำเป็นให้พรรคร่วมฯ แถลงหนุนโรดแมพ-เชื่อชี้แจงพรรคปชป.ได้

ข่าวการเมือง Tuesday May 4, 2010 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นต้องให้พรรคร่วมรัฐบาลแถลงยืนยันถึงการสนับสนุนแนวทางสร้างความปรองดอง เพื่อนำไปสู่การยุบสภา-เลือกตั้งใหม่ ตามที่แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)เรียกร้อง เพราะอำนาจการยุบสภาอยู่กับนายกรัฐมนตรี

พร้อมกันนั้น นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังยอมรับว่าข้อเสนอโรดแมพไม่ได้ผ่านหารือพรรคประชาธิปัตย์และไม่ได้เป็นมติพรรค แต่ก็เชื่อว่าจะสามารถชี้แจงให้ที่ประชุมในวันที่ 6 พ.ค.เข้าใจได้

โดยเฉพาะล่าสุดที่นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคฯ ออกมาระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาภายใต้การข่มขู่และไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมนั้น นายอภิสิทธิ์ ก็ระบุว่าข้อเสนอทั้งหมดเป็นไปตามจุดยืนของตนเองที่ต้องการสร้างความปรองดองก่อนจัดการเลือกตั้งใหม่ ไม่ได้ทำภายใต้การถูกข่มขู่ และในกระบวนการสร้างความปรองดองก็ไม่ได้มีประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมทางอาญาให้กับใครทั้งสิ้น

สำหรับข้อเสนอดังกล่าวจะต้องไม่มีข้อเรียกร้องต่อรองอะไรเพิ่มเติมอีกแล้ว ข้อเสนอทั้งหมดครบถ้วนในตัวมันเอง และไม่เชื่อว่าสังคมจะปล่อยให้มีการเจรจาต่อรองกันอีก เพราะที่พูดออกมาได้มีการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายแล้ว โรดแมพทั้ง 5 ข้อ ไม่จำเป็นต้องลงสัตยาบัน เนื่องจากการออกมาแถลงถือเป็นข้อผูกมัดอยู่แล้ว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเริ่มต้นกระบวนการสร้างความปรองดองตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หลังจากที่ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้วในวันนี้ เพราะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งหากการชุมนุมยุติ บ้านเมืองเดินไปด้วยความสงบมีการแก้ไขปัญหาตามที่กำหนดไว้ ก็จะทำให้สามารถยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ได้ตามที่กำหนดไว้

แต่หากทางแกนนำ นปช.ไม่ตอบรับข้อเสนอก็อาจจะทำให้กระบวนการขลุกขลักไปบ้าง ไม่แน่นอนว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามกำหนดหรือไม่ หากทางแกนนำไม่รับเงื่อนไขก็จะต้องเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายต่อไป และแม้จะมีการประกาศโรดแมพ 5 ข้อ แต่การดำเนินคดีกับทางแกนนำก็คงต้องดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย

"ขณะนี้เรามีหมายจับกระบวนการก็ต้องเดินต่อ มีการดำเนินคดีตามปกติ สิทธิหน้าที่เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เมื่อกระบวนการเข้าสู่ศาลก็จะเป็นดุลพินิจของศาล ต้องเคารพการตัดสินใจของศาล"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

หากทาง นปช.รับข้อเสนอ ต่อจากนี้จะมอบหมายนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประสานด้านการเมือง และผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)ดูแลเรื่องการยุติการชุมนุม ทั้งสองคนจะทำหน้าที่ประสานงานกันเพื่อให้ประชาชนออกจากพื้นที่ชุมนุมด้วยความเรียบร้อยปลอดภัย ส่วน พ.ร.ก.ก็คงต้องคงไว้ก่อนระยะหนึ่งเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยได้ รวมถึงป้องกันไม่ให้มีการปลุกระดมผ่านสื่ออีก โดยหากยึดตามหลักของเดือนเม.ย.ปีก่อนก็อาจจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ แต่ก็ขึ้นกับสถานการณ์ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ