นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ยุติการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ภายในวันนี้หรือพรุ่งนี้ หากมีความจริงใจที่จะเข้าร่วมแผนปรองดอง และหากไม่รีบยุติการชุมนุมก็ไม่รับรองว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย.นี้ พร้อมระบุชัด ผู้ก่อการร้ายและ"ทักษิณ"ไม่ต้องการเห็นแผนปรองดอง ชี้รัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าแผนปรองดองและฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้
"ถ้าจริงใจ ก็ต้องสามารถประกาศการยกเลิกการชุมนุม 15 พฤษภาคม ช้าไป ความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยต่อเจ้าหน้าที่ ประชาชน และเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ และยิ่งโรงเรียนใกล้เปิดเทอม ...อย่ารอช้าเลยครับ ยิ่งช้าความเสี่ยงก็ยิ่งมีมาก เพราะฉะนั้นวันนี้พรุ่งนี้ควรจะมีคำตอบที่ชัดเจน " นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ"เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ทางสถานีโทรทัศน์ เช้านี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การเสนอวันเลือกตั้ง 14 พ.ย. นั้น ไม่ได้เป็นการจำนนต่อข้อเรียกร้องในเรื่องของการยุบสภา แต่เป็นเรื่องที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องเข้าสู่กระบวนการปรองดอง และยุติการชุมนุมที่ผิดกฎหมายลง ไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย. อาจจะไม่เกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กลุ่มบุคคลที่ไม่ต้องการให้เกิดแผนปรองดองคือคนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากแผนนี้ ทั้งกลุ่มผู้ก่อการร้าย และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมตรี ที่ขณะนี้อยู่ต่างประเทศ เพราะไม่ได้ประโยชน์จากแผนนี้ รวมทั้ง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิ์ผล หรือเสธแดง ที่ประกาศชัดว่าไม่เอาด้วยกับแผนปรองดอง และไม่ต้องการยุติการชุมนุม รวมทั้งจะเรียกแกนนำนปช.จากภูมิภาคคัดต้านกับแกนนำ นปช.ส่วนกลางที่เห็นด้วยกับแผนปรองดองในเบื้องต้น
"คนที่แสดงตัวชัดเจนไม่เอาแผนปรองดอง คือ เสธแดง และมีความพยายามที่จะไม่ให้มีการชุมนุมยุติลง ...และที่สำคัญ เขาจะฟังคำตอบจากคุณทักษิณ ซึ่งผมก็กล้าพูดได้ว่า คุณทักษิณ ไม่พอใจแผนปรองดองเพราะในแผนปรองดองไม่มีคำตอบในเรื่องผลประโยชน์ส่วนต้วคุณทักษิณเลยไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีความและเรื่องอื่นๆ เพราะฉะนั้นจุดนี้จึงเรียนยืนยันว่าแผนปรองดองต้องเดินหน้า"นายกรัฐมตรี กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ชี้แจงเกี่ยวกับแผนโรดแมป 5 ข้อ ว่า ยืนยันว่าแผนดังกล่าวไม่มีตรงไหนระบุรัฐบาลจะปรองดองกับผู้ก่อการร้ายที่ทำผิดกฎหมาย เพราะในแผน 5 ข้อ ไม่มีตรงไหนที่ให้นิรโทษกรรมมในคดีอาญา คนทำผิดยังมีความผิดเหมือนเดิมต้องถูกจับกุมดำเนินคดี ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ได้ดำเนินคดีก้าวหน้าไปมาก จับกุมผู้ต้องสงสัย ยึดอาวุธ สอบสวนแล้วขยายผล ทำให้เห็นภาพเครือข่ายก่อการร้าย ไม่มีตรงไหนบอกว่าเราไปสมยอมผู้ก่อการร้าย
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แนวคิดเรื่องยุบสภาเป็นไปตามหลักคิดเดิม ไม่ได้จำนนต่อสิ่งที่ทำผิดกฎหมาย หากทุกฝ่ายทำแผนปรองดองจริงจัง บ้านเมืองจะสงบที่สุดนับตั้งแต่ปี 48 ถ้าไม่ได้เป็นไปตามนี้ เราก็จะพยายามตกลงร่วมกับทุกฝ่าย แต่จะไม่มีการยุบสภา
พร้อมทั้ง ยืนยันว่าได้เขียนโรดแมปด้วยตัวเอง และไม่มีการซูเอี๋ยอย่างที่เป็นข่าว และไม่ได้เป็นการตัวรอดหรือขี้ขลาด อย่างที่หลายกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ แต่วิกฤตครั้งนี้ถือว่าหนักหน่วงมาก ดังนั้เนรัฐบาลและกองทัพจะฝ่าฟันไปให้ได้
"ที่สะท้อนว่าผมขี้ขลาด ไม่กล้าจัดการอะไรลาออกไปเสีย ผมบอกเลยครับ คนที่ไม่ปรารถนาดีกับบ้านเมืองต้องการเห็นมากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทันที คือการให้ผมลาออก ...ผมยืนยันผมไม่ตกลงกับใครในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวแน่นอน ผมได้ย้ำว่าผมไม่ได้รับอะไรจากการปรองดองครั้งนี้ หลายคนบอกว่าผมเอาตัวรอด ผมคงอยู่สบาย แต่ประชาชนเดือดร้อน ผมเรียนด้วยความสัตย์จริง ชีวิตผมก็ถูกคุกคามจนถึงขณะนี้ และก็รู้ว่าถูกคุกคามต่อไป แต่ยืนยันว่าอาสามาแล้วพร้อมทำหน้าที่ เต็มที่ ถ้าผมกลัวผมลาออกไปแล้ว ถ้าผมอยากอยู่สบายผมลาออกไปแล้ว" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การประกาศใช้แผนการปรองดองแก้ปัญหาความแตกแยกในชาติ มีหลักสำคัญอยู่ 5 ข้อดังนี้ 1.เพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีขบวนจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง ซึ่งรัฐบาลก็ได้มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสืบสวนสอบสวน และก็ได้มีการจับกุมและกำลังขยายไปอีกหลายคน รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ
2.ความเลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งต้องปฏิรูปประเทศไทย โดยในวันที่ 12-13 พ.ค.จะเปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ มีส่วนร่วมนำเสนอข้อคิดเห็น แต่อาจต้องใช้เวลานาน และไม่อาจเสร็จทันในรัฐบาลนี้ แต่ต้องเริ่มและจะเกิดเป็นรูปธรรมในอนาคต
3.เรื่องของสื่อสารมวลชน ซึ่งต้องยอมรับว่าการต่อสู้ทางการเมืองในระยะหลังมักใช้เครื่องมือเทคโนโลยี ทั้งสื่อประเภทอินเทอร์เนต โทรทัศน์ดาวเทียมหรือวิทยุชุมชน เป็นศูยน์บัญชาการเผยแพร่ข่าวสาร ทำให้เกิดควาขัดแย้งระหว่างกลุ่มได้ง่ายขึ้น แต่แผนปรองดองที่เสนอไปนั้น จะให้สื่อทำหน้าอย่างอิสระแต่ต้องสร้างสรรค์ โดยจัดตั้งองค์อิสระภาคประชาชนมาตรวจสอบการทำหน้าที่ เพื่อทำให้เกิดกติกาโดยภาครัฐจะไม่เข้าไม่เข้าแทรกแซง
4.ตั้งคณะกรรมการกลางตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุชุมนุม ทั้งเหตุการณ์ในวันที่ 10,22 เม.ย. ในส่วนของภาครัฐและกองทัพพร้อมจะให้ความร่วมมือตรวจสอบเพราะมั่นใจรัฐบาลได้ดำเนินการตามแผนและยึดกฎหมาย ยืนยันจะไม่การออกนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มผู้ก่อการร้ายอย่าวแน่นอน และ 5.สร้างกติกาทางการเมืองให้เป็นที่ยอมรับจากฝ่าย ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นเหตุความขัดแย้งจากกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้น