ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อช่วงเช้าที่มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน ได้มีการเปิดให้ ส.ว.หลายคนหารือถึงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดงที่ยังไม่ยุติ หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอแนวทางเพื่อการปรองดองหรือโรดแมพ 5 ข้อ
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การชุมนุมยังคาราคาซังอยู่แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศโรดแมพปรองดอง 5 ข้อ ซึ่งตนเห็นว่ารัฐบาลควรมีข้อสรุปอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาให้ชัดเจนได้แล้ว พร้อมฝากว่า แม้โรดแมพจะระบุว่าไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญาและการนิรโทษกรรม แต่เท่าที่ตนทราบนั้น การที่มีข้อเสนอออกมาเช่นนี้ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ โดยเฉพาะข้าราชการที่ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไร
"ดีเอสไอเมื่อ 2-3 วันที่แล้ว มีกำหนดจะไปค้นบ้านพักผู้ต้องหาซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีการชุมนุมจำนวนหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ระงับไป เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งลอยๆ ว่าให้ระงับ เพราะจะกระทบกับบรรยากาศการปรองดอง แต่ไม่รู้ว่าคนสั่งคือระดับใด จริงเท็จแค่ไหน จึงขอให้รัฐบาลชี้แจง" นายคำนูณ กล่าว
พล.ต.ต.เกริก กัลยาณมิตร ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอให้นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง กวาดล้างปิดโรงเรียนนปช.แดงทั้งแผ่นดิน ซึ่งมีประมาณ 400 แห่งทั่วประเทศ มาดำเนินคดี เพราะปลูกฝังแนวคิดที่ผิดๆ ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากนายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ ทำไม่ได้ ก็ไม่ควรอยู่ในตำแหน่งต่อไป
น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ได้เรียกร้องให้แกนนำนปช.ยุติการชุมนุมโดยเร็ว และอย่ารีรออีกหลังจากที่นายกรัฐมนตรีเสนอแผนปรองดองไปแล้ว เพราะจะถือว่าเป็นทางลงที่ดีที่สุด อย่างไรก็ดี เกรงว่าจะมีเหตุมือที่สามแทรกซึมทำให้ประชาชนล้มตายอีกเหมือนกรณีระเบิดที่สวนลุมพินีและสีลมเมื่อคืนวันที่ 8 พ.ค.
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เสนอว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องหารือกับหน่วยข่าวความมั่นคงเพื่อผลักดันตามแนวทางปรองดอง โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่าจะต้องแยกปลาออกจากน้ำ นายกรัฐมนตรีจะต้องกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไปเพิ่มเติมในกลุ่มผู้ชุมนุมอีก โดยจะต้องปิดล้อม ตัดเสบียง ตัดน้ำ ตัดไฟ เพื่อให้เดินหน้านำไปสู่การเจรจาต่อไป
ทพ.อนุศักดิ์ คงมาลัย ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่านายเคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้พบปะพูดคุยกับที่ปรึกษากฎหมายและคนใกล้ชิดของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยว่า ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงต่างประเทศก็รู้สึกไม่สบายใจว่ามีเจตนาอะไร การพูดคุยเกี่ยวพันกับกลุ่มที่ต้องการการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ จึงขอเรียกร้องให้นายเคิร์ต ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์รวมถึงข้อสนทนากับบุคคลทั้ง 2 ว่าเป็นอย่างไร