องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ว่ายังไม่สิ้นสุดตามคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ในกรณีที่นายกษิต ทำเอกสารลับทางราชการถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เร่งรัดการดำเนินคดีที่คั่งค้างอยู่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อันอาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ก้าวก่ายและแทรกแซงการทำงานของฝ่ายตุลาการ
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องของนายเรืองไกร ที่ทำหนังสือถึงประธานวุฒิสภาให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกษิต ว่าอาจกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง(7) และวรรคสาม มาตรา 266 (1) และมาตรา 268 หรือไม่ กรณีทำหนังสือเสนอแนวทางการทำงานในหน้าที่ราชการไปยังนายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาบางส่วนมีลักษณะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายก้าวก่ายและแทรกแซงการพิจารณาคดีต่างๆ โดยเฉพาะกรณีเสนอให้มีการเร่งรัดการพิจารณาคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งเป็นลักษณะการใช้อำนาจหน้าที่ฝ่ายบริหารก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าของฝ่ายตุลาการ
โดยองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 จะมีบทบัญญัติในการห้าม ส.ส.และ ส.ว.ใช้อำนาจหน้าที่ในการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือบุคคลอื่น แต่กรณีของนายกษิต ถือเป็นการดำเนินการในตำแหน่งหน้าที่ของรัฐมนตรีที่มีข้อยกเว้นไว้ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ในการเสนอแนะแนวทางการบริหารราชการต่อนายกรัฐมนตรี
โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งในขณะนั้นไทยกำลังมีข้อพิพาทกับประเทศกัมพูชา จึงถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องตามกฏหมาย ไม่ถือเป็นการแทรกแซงหรือก้าวก่ายการทำหน้าที่ของตุลาการ เพราะตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจตุลาการสามารถวินิจฉัยได้โดยอิสระ ดังนั้นนายกษิต จึงไม่ได้กระทำการก้าวก่ายหรือแทรกแซงตามที่ถูกกล่าวหา ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้นายกษิต ไม่จำเป็นต้องพ้นจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ