รัฐบาลเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ/ลูกจ้างเจอผลกระทบจากคนเสื้อแดง

ข่าวการเมือง Wednesday May 12, 2010 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัฐบาลเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างสถานประกอบการย่านแยกราชประสงค์และพื้นที่ใกล้เคียง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง รวมทั้งมาตรการการฟื้นฟูธุรกิจเบื้องต้นหลังการชุมนุมยุติแล้ว ส่วนข้อเสนอจ่ายเช็ค 3 พันบาทช่วยลูกจ้างถูกเก็บเข้าลิ้นชัก

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ครั้งที่ 1/2553 ได้เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือ ได้แก่ มาตรการชะลอกระแสเงินสดจ่ายออกให้กับทางภาคเอกชน เป็นมาตรการทางภาษีทั้งหมด อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งวันนี้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้ทำความตกลงตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้มีการขยายเวลาของการชำระภาษีออกไปอีกประมาณ 60 วัน สำหรับผู้ประกอบการที่ประกอบการอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และบริเวณสุขุมวิท 31 ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่จะสามารถใช้สิทธิ์ในมาตรการการช่วยเหลือนี้ได้ต้องเป็นผู้ประกอบการที่หยุดประกอบกิจการชั่วคราวอันเนื่องมาจากการชุมนุม หรือผู้ประกอบการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ส่วนภาษีโรงเรือนและที่ดิน ครม.ได้มีมติขอความร่วมมือทางกรุงเทพมหานคร(กทม.)เรียบร้อยแล้ว ในเรื่องของการขอขยายระยะเวลาในการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินให้กับผู้ประกอบการจนถึงสิ้นเดือน ก.ย.53

มาตรการเรื่องค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า ได้มีการประสานไปยังผู้ว่าการการประปานครหลวง(กปน.) และผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)เรียบร้อยแล้ว ซึ่งวันนี้คาดว่าทางคณะกรรมการแต่ละรัฐวิสาหกิจจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมเพื่อขออนุมัติตามที่คณะกรรมการฯ เสนอ

มาตรการเรื่องเงินประกันสังคมและเงินกองทุนทดแทนแรงงานมีการขอขยายระยะเวลาออกไปเช่นเดียวกัน ซึ่งทางกระทรวงแรงงานได้ออกประกาศอนุโลมขยายระยะเวลาออกไปตามที่คณะกรรมการฯ เสนอ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังหารือถึงมาตรการที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ได้แก่ มาตรการการช่วยเหลือผู้ที่ถูกยกเลิกการจ้างงาน หรือผู้ตกงาน ประกอบโดย 2 ส่วน คือผู้ที่อยู่ในระบบ และนอกระบบ สำหรับผู้ที่ตกงานที่อยู่นอกระบบ การแก้ไขปัญหาค่อนข้างจะยาก ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องนี้ ซึ่งตอนนี้คณะกรรมการฯ จะเข้าไปดูสาเหตุที่ถูกปลดออกจากงาน หรือเลิกจ้างว่าเพราะอะไร ตรงนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในการช่วยเหลือ ด้านผู้ตกงานที่อยู่ในระบบในส่วนนี้ทางกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมได้ดูแลอยู่แล้ว

สำหรับจำนวนของพนักงานที่ไม่ได้ถูกยกเลิกการจ้างงานแต่กลับไปอยู่บ้านเฉยๆ เนื่องจากกิจการไม่สามารถประกอบกิจการได้ แต่มีการจ่ายเงินเดือนให้ทุกเดือน จากการสำรวจ ณ เดือน เม.ย.53 ซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 27,192 คน คิดเป็นเงินเดือนที่นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่พนักงานลูกจ้างเหล่านี้เป็นจำนวนเงิน 427 ล้านบาท ทำให้นายจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจการได้ แต่ยังต้องรับภาระในการจ่ายเงินเดือน

และมาตรการการช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าพื้นที่ที่เป็นรายได้ของผู้ประกอบการซึ่งไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าเช่าได้จากร้านค้าย่อย ร้านค้าใหญ่ ธุรกิจขนาดค้าปลีก และธุรกิจขนาดกลางในการประกอบกิจการ คิดเป็นเงินจำนวนทั้งหมดประมาณ 351 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้ทางผู้ประกอบการขอให้รัฐบาลให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และจะมีการนำเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ขณะที่นางอัญชลี วานิช เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับมาตรการเบื้องต้นที่คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว เช่น การดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ ความสะอาด และภาพพจน์ของย่านราชประสงค์ การดำเนินการกระตุ้นความเชื่อมั่น สนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในย่านราชประสงค์ การกำหนดมาตรการในการสื่อสารให้กับสื่อทั้งในและต่างประเทศ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ย่านราชประสงค์ การสนับสนุนให้หน่วยงานราชการใช้โรงแรมย่านราชประสงค์ในการจัดงานประชุม สัมมนา และการให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านการตลาด หรือส่วนลดเพื่อใช้ในการฟื้นฟู และส่งเสริมการค้าและคู่ค้าในย่านราชประสงค์ที่เกิดขึ้นในปี 53 และนำไปหักภาษีได้ 2 เท่า ซึ่งส่วนนี้ทางกระทรวงการคลังไม่มีความเห็นที่ขัดแย้ง หรือโต้แย้ง และจะมีการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

สำหรับมาตรการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือร้อยละ 0 สำหรับผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน และมาตรการจัดการส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ประกอบการในย่านราชประสงค์ให้เป็นบริเวณที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นระยะเวลา 3 ปี นั้น ไม่สามารถทำได้เพราะต้องไปแก้ไขกฎหมาย และผิดหลักการเรื่องของภาษี

อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่จะจ่ายเช็ค 3 พันบาท ช่วยเหลือลูกจ้างที่มีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือนยังไม่มีการประชุมครั้งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ